All-New Honda City เปิดตัวในช่วงก่อนเริ่มงาน Motor Expo 2019 เพียงไม่กี่วัน แน่นอนว่าเป้าประสงค์ของฮอนด้าคือการสร้างยอดขายในงานนี่แหละและมันก็เป็นตามคาด เมื่อจบงาน City เจนเนอเรชั่นที่ 5 กวาดยอดขายเป็นอันดับ 1 ของฮอนด้าในงานครั้งนี้ แม่จะยังไม่มีรถให้ทดสอบหรือรีวิวมากมายแต่ผู้บริโภคก็ยังไว้ใจและเชื่อมั่นในแบรนด์ ประกอบกับรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยโดนใจและเครื่องยนต์ใหม่ 1.0 ลิตร เทอร์โบ 122 แรงม้า กำลังมากกว่าคู่แข่งที่เปิดตัวไล่เลี่ยกันเป็นไหนๆ พอเป็นแบบนี้คนที่มองถึงสมรรถนะจากรถยนต์ขนาดเล็กก็คงไม่ต้องคิดมากว่าจะเลือกใคร
การที่ฮอนด้าลดขนาดเครื่องยนต์ลงมาเป็น 1.0 ลิตร ทำให้ City ใหม่เข้าค่ายเป็นรถอีโค่คาร์สายรักษ์โลก แต่พอขึ้นชื่อว่าเป็นอีโค่คาร์คำสรรเสริญในทางลบก็จะตามมาเป็นเงาตามตัว การยัดเทอร์โบเข้ามาจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าฮอนด้ายังต้องการให้ City ใหม่ขับสนุกและมีสมรรถนะที่ดีไม่ต่างจากการใช้เครื่อง 1.5 ไร้เทอร์โบ และเพื่อเป็นการพิสูจน์ความตั้งใจของฮอนด้า กิจกรรมทดสอบ City ใหม่จึงเกิดขึ้นโดยรอบนี้ฮอนด้าพาสื่อมวลชนไปลองขับที่ จ.เชียงราย รวมระยะทางกว่า 196 กม. เราจะได้รู้กันว่าเครื่อง 1.0 เทอร์โบ ขับแล้วจะเป็นอย่างไร ขึ้นเขาไหวมั้ย รวมถึงเซ็ตติ้งต่างๆ ของตัวรถว่าจะทำออกมาได้ดีแค่ไหน
ทริปทดสอบครั้งนี้ฮอนด้าเอา City ใหม่มาให้ลอง 2 รุ่นคือรุ่นท็อป RS และรุ่นรองท็อป SV ทั้ง 2 รุ่นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ RS จะมาในแนวสปอร์ตใส่ชุดแต่งมาเต็ม ส่วน SV เป็นแนวเรียบหรูดูพรีเมี่ยม เครื่องยนต์ 1.0 เทอร์โบ เหมือนกันแต่ออปชั่นต่างๆ ในรุ่น RS จะจัดเต็มกว่า พร้อมกับราคาค่าตัวที่ต้องใช้คำว่า ”กระโดด” ขึ้นไปสูงกว่ารุ่น SV พอสมควร WHATCAR? Thailand ได้ลองขับรุ่น SV ราคาค่าตัว 665,000 บาท ไปดูกันเลยว่าการขับขี่จะเป็นอย่างไร
เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบ พิษสงร้ายกาจ
“เครื่องยนต์เทอร์โบของฮอนด้าไม่เคยทำให้ใครต้องผิดหวัง” นี่น่าจะเป็นประโยคที่เหมาะสมกับเครื่อง 1.0 ลิตรบล็อกนี้เป็นที่สุด ดูง่ายๆ จากเครื่อง 1.5 ลิตร เทอร์โบ ใน Civic RS พิษสงของมันเป็นที่ถูกจิตถูกใจวัยรุ่นขาซิ่งจำนวนมาก เราอยากจะบอกว่าเครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบ ของ City ใหม่นี้คือร่างย่อส่วนของเครื่อง 1.5 ลิตร เทอร์โบ รุ่นพี่ตัวร้ายของมัน
รายละเอียดเครื่องยนต์คือเบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 988 ซีซี ฉีดน้ำมันแบบตรงเข้าห้องเผาไหม้ Direct-Injection พร้อมระบบแปรผัน VTEC พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ของ Borg-Warner กำลังสูงสุดที่รีดเค้นออกมาได้คือ 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000 – 4,500 รอบ/นาที เครื่องยนต์ตัวนี้รองรับน้ำมัน E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำเพียง 99 กรัม/กม. ผ่านฉลุยกับมาตรฐานไอเสีย Euro 5 ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ CVT ลูกใหม่ที่ปรับจูนมาเพื่อรองรับกับเครื่องยนต์เทอร์โบโดยเฉพาะ ในรุ่น RS จะมีแป้นแพดเดิลชิฟท์มาให้เล่นเกียร์ +/- ส่วนรุ่นอื่นหมดสิทธิ
เส้นทางการขับขี่เริ่มจากในตัวเมือง จ.เชียงราย ขับไป อ.เชียงของ แล้วกลับเข้าเมือง ที่ความเร็วต่ำในเขตเมือง City SV ของเราทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม เครื่องยนต์มีความนุ่มนวลและเงียบ เกียร์ CVT ส่งกำลังอย่างลื่นไหล ดังนั้นการเร่งเครื่องหรือการชะลอความเร็วจึงมีแต่ความนุ่มนวล อาการรอรอบอาจจะมีบ้างในช่วงต่ำกว่า 2500 รอบต่อนาที แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการวิ่งบนทางราบแน่นอน ในขณะที่ช่วงล่างก็ให้อารมณ์แน่นหนึบ มันไม่ได้นุ่มที่สุดแต่ก็ซับแรงสะเทือนจากอุปสรรคบนผิวถนนได้ดี พวงมาลัยน้ำหนักเบาสบายถูกใจสาวๆ แน่นอน แถมยังมีระยะฟรีที่ไม่มากเกินไปทำให้ควบคุมหน้ารถได้อย่างแม่นยำ
พอหลุดจากเขตเมืองเท่านั้นแหละ City ใหม่ก็ได้ปลดปล่อยความโกรธที่เหมือนอัดอั้นมานาน เราลองออกตัวจากสี่แยกไฟแดงแบบกดคันเร่งจนสุด รถกระโจนไปข้างหน้าพร้อมกับแรงดึงที่น่าตื่นเต้นมาก ความเร็วเริ่มไต่จาก 0 ไปถึง 100 ในเวลาอันสั้น เราไม่ได้ลองจับเวลาแต่สื่อมวลชนบางท่านบอกว่าทำได้ต่ำกว่า 12 วินาทีในโหมดเกียร์ D ปกติ ซึ่งถือว่าน่าปรบมือเลยทีเดียวสำหรับรถอีโค่คาร์เครื่องเล็ก เกียร์ CVT สั่งให้รอบเครื่องยนต์ดีดขึ้นสูงแตะเส้นเรดไลน์แล้วสะบัดกลับมาเพื่อเข้าสู่เกียร์ถัดไป จุดนี้ได้ใจคนชอบเสียงลากรอบเครื่องยนต์ไปเต็มๆ
โหมดเกียร์ S ถูกออกแบบเพื่อเอาใจคนเท้าหนัก มันตอบสนองได้เมามันส์กว่าเกียร์ D แบบรู้สึกได้ อัตราเร่งมาไวขึ้น แต่ละเกียร์จะลากรอบสูงขึ้น แถมจังหวะลดเกียร์ในตำแหน่งเกียร์ต่ำๆ ยังมีอาการกระตุกนิดๆ ให้รู้สึกถึงความเป็นเกียร์แมนวล แบบนี้วัยรุ่นชอบ สำหรับการคิ๊กดาวน์นั้นในโหมดเกียร์ D ถือว่าตอบสนองได้ค่อนข้างไว ต้องเหยียบคันเร่งลึกประมาณ 50% สมองกลจะรับรู้ละว่าเราต้องการเร่งแซงก่อนจะสั่งการให้เกียร์ลดลง 1 สปีด กำลังที่ได้ก็มีมากพอให้แซงรถพ่วงยาวๆ ได้แบบไม่ต้องลุ้นตัวเกร็ง การคิ๊กดาวน์นั้นในโหมดเกียร์ S กระบวนการทุกอย่างจะเกิดขึ้นไวกว่าเล็กน้อย
City ใหม่เป็นรถที่ขับเร็วแล้วมั่นใจมาก ที่ความเร็วเดินทาง 120 กม./ชม. ในทางตรงรถนิ่งมาก ไม่ส่าย ไม่โคลง น้ำหนักของพวงมาลัยจะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่ยังคุมง่าย ช่วงล่างเกาะถนนหนึบให้ความมั่นใจได้เป็นอย่างดี การดูดซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วสูงทำได้ดีมาก เส้นถนน รอยปะ คอสะพาน สามารถรูดผ่านได้โดยไม่เสียอาการ สำหรับความเร็วสูงสุดนั้นสื่อมวลชนหลายท่านยืนยันว่าทะลุ 200 กม./ชม. โอ้วว พระเจ้า รถอีโค่คาร์อะไรวิ่งได้ขนาดนี้!!
เล่นโค้งสนุกสนาน
ตลอดเส้นทางทดสอบมีช่วงที่เป็นโค้งมากมาย ปกติแล้วรถเล็กน้ำหนักไม่มากการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงจะรู้สึกเหวอๆ ไม่นิ่ง ไม่มั่นคง แต่ City ใหม่กลับไม่มีความรู้สึกเหล่านั้นเลย แม้จะให้หน้ายางมาเพียง 185 แต่เมื่อสาดโค้งกลับรู้สึกถึงแรงยึดเกาะส่งกลับมาที่พวงมาลัย ซึ่งอัตราทดพวงมาลัยที่เหมาะสมยังช่วยให้คุมล้อหน้าได้อย่างฉับไวและแม่นยำด้วย อาการโยนของตัวถังและอาการหน้าดื้อจะมีบ้างเล็กน้อยในโค้งแคบแต่ไม่ได้ทำให้ควบคุมทิศทางยากขึ้นแต่อย่างใด ถ้าเป็นโค้งกว้างสามารถใช้ความเร็วสูงเข้าได้เลย
ยิ่งเป็นโค้งคดเคี้ยวต่อเนื่องบนภูเขาจะยิ่งเห็นถึงความหนึบของช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวที่ดีงามกว่า City รุ่นก่อนหน้าชัดเจน City ใหม่ให้ความมั่นใจมากกว่า ใช้ความเร็วได้มากกว่า การปรับเซ็ตช่วงล่างและพวงมาลัยก็ดีกว่า
มาต่อกับคำถามที่ว่า เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบ ขึ้นเขาไหวมั้ย? จากการทดสอบของเราตอบดังๆ เลยว่า “เหลือรับประทาน” ไม่ว่าเขาลูกไหน ชันสักเท่าไร City ใหม่ไปได้หมด ด้วยกำลังเครื่องยนต์ที่เกินตัวแถมน้ำหนักตัวรถที่เบาด้วยแล้ว สบายๆ ครับ แค่กระทืบคันเร่งพลังก็มาให้เห็นแบบเหลือเฟือแล้ว แต่รุ่น SV ที่เราขับนี้จะเหนื่อยหน่อยตอนลงเขาเพราะไม่มีแพดเดิลชิฟท์มาให้ใช้เกียร์ต่ำเพื่อสร้างแรงหน่วงหรือเอนจิ้นเบรก เราแก้ไขสถานการณ์โดยใช้เกียร์ S เครื่องยนต์จะคารอบสูงกว่าเกียร์ D ปกติ ช่วยสร้างแรงหน่วงได้ ลดภาระการเบรกไปในตัว
City ใหม่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นทุกด้าน แต่มีอย่างหนึ่งที่ยังไม่ดีพอนั่นก็คือระบบเบรก ถ้าขับปกติไม่ได้ใช้ความเร็วสูงมาก เบรกชุดนี้รองรับได้สบาย แต่ถ้าเป็นคนเท้าหนักที่ใช้ความเร็วสูงเป็นประจำน่าจะต้องการระบบเบรกต้องดีกว่านี้ ระยะเบรกควรต้องสั้นลงกว่านี้ ทั้งนี้ การตอบสนองของแป้นเบรกยังอยู่ในเกณฑ์ดี ระยะฟรีมีพอประมาณเพื่อความนุ่มนวล แรงต้านของแป้นเบรกเป็นธรรมชาติ
การเก็บเสียงของ City ใหม่ ก็ทำได้ดีกว่ารถรุ่นก่อนหน้าพอสมควร เงียบกว่าที่ความเร็ว 120 กม./ชม. มีเพียงเสียงลมเล็ดลอดเข้ามาตอบขอบประตูเท่านั้น เช่นเดียวกบเสียงยางที่เบาลงด้วยเช่นกัน
เอาล่ะ รถอีโค่คาร์กับอัตราสิ้นเปลืองมักจะมาเป็นของคู่กัน แน่นอนว่าเครื่องเล็กลงก็ต้องประหยัดมากขึ้น ซึ่งมันก็ถูกต้อง แต่การทดสอบครั้งนี้เราไม่ได้เน้นขับเพื่อดูความประหยัดเลย ใส่หนักกันตลอดเพื่อดูประสิทธิภาพจริงๆ ของรถ มีขับขึ้น-ลงเขาด้วย ดังนั้นตัวเลขที่ขึ้นบนหน้าปัดจึงอยู่ที่ราว 11 – 12 กม./ลิตร เท่านั้น ถามว่าสามารถทำให้มันประหยัดมากกว่านี้ได้ไหม ได้อยู่แล้วครับแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยทั้งลักษณะการขับขี่ สภาพการจราจร สภาพเส้นทาง น้ำหนักบรรทุก เราคิดว่าตัวเลข 17-18 กม./ลิตร ก็น่าจะเป็นไปได้สำหรับ City ใหม่
กว้างขึ้น สะดวกสบายขึ้น
สิ่งที่ต้องชื่นชมใน City ใหม่นอกจากจะเป็นความว๊าวของขุมพลังเครื่องยนต์แล้วก็เห็นจะเป็นเรื่องความสะดวกสบายในห้องโดยสารนี่แหละ แม้ว่าระยะฐานล้อของรถจะสั้นลง แต่กลับได้พื้นที่ภายในห้องโดยสารมากขึ้น นี่คือความชาญฉลาดในการออกแบบของวิศวกร บรรยากาศในห้องโดยสารก็ให้ความรู้สึดโปร่งโล่งแตกต่างจาก Civic รุ่นพี่อย่างชัดเจน การเข้า-ออกรถทำได้อย่างสะดวกจากประตูบานหน้าและบานหลังขนาดใหญ่
เบาะหน้ารูปทรงธรรมดา วัสดุเป็นหนังสังเคราะห์ แต่ให้ความกระชับโอบรับลำตัวได้ดี ทำให้เวลาเข้าโค้งแล้วตัวไม่โยกย้ายไป-มา และยังเป็นแบบปรับมือทั้งหมด ความสูงของเบาะคนขับกำลังดี สามารถมองไปข้างหน้าได้ไกล มุมมองผ่านไหล่ไปกระจกบานหลังค่อนข้างกว้าง เสา A-pillar ขนาดไม่ใหญ่เกินไป พื้นที่เหนือศีรษะมีเหลือเฟือสำหรับคนตัวสูง 180 ซม.
เบาะหลังเป็นจุดที่เราชอบมากเพราะมีพื้นที่กว้างขวางและเข้า-ออกสะดวก นั่งแน่นๆ ได้ 3 คน ซึ่งคนกลางอาจจะรู้สึกอึดอัดหน่อยเพราะขาไปเบียดกับช่องวางของตรงที่พักแขนกลาง พื้นที่ช่วงศีรษะและช่วยขามีเหลือมากพอให้คนตัวสูง 180 ซม. นั่งได้อย่างสบายใจแม้ว่าจะต้องนั่นนานหลายชั่วโมง
รุ่น SV จะมีโทนสีภายในห้องโดยสาร 2 แบบขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอกคือดำล้วนกับทูโทนไอเวอรี่/ดำ ซึ่งอย่างหลังช่วยเพิ่มความสว่างและดูพรีเมี่ยมมากขึ้น หน้าปัดเป็นแบบเข็มอนาล็อกพร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ตรงกลาง ตัวเลขใหญ่ดูชัดเจนดี พวงมาลัยมีปุ่มควบคุมเครื่องเสียงที่ก้านซ้ายปรับได้เฉพาะสูง-ต่ำ
แดชบอร์ดมาในดีไซน์เรียบง่าย ใช้วัสดุคุณภาพดีแต่ก็มีพลาสติกแข็งปะปนอยู่เยอะ จัดวางปุ่มควบคุมต่างๆ ให้เข้าถึงง่าย เครื่องปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ หน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้วตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดี คุณภาพหน้าจออยู่ในเกณฑ์ดี ตอบสนองไว หน้าตาเมนูต่างๆ ใช้งานง่าย มีเฉพาะฟังก์ชั่นมาตรฐาน อาทิ วิทยุ เครื่องเล่นเพลง แต่รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ ส่วน Apple CarPlay และแอพฯ HONDA Connect จะมีในรุ่น RS เท่านั้น ระบบเสียงเป็นลำโพง 4 ตัวคุณภาพมาตรฐาน ฟังได้เพลินๆ หากไม่คิดอะไรมาก หน้าจอนี้ยังแสดงภาพขากกล้องมองหลังด้วยซึ่งค่อนจ้างคมชัดเลยทีเดียว
ห้องเก็บสัมภาระของ City ใหม่มีขนาดที่ดูด้วยสายแล้วไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก การเก็บรายละเอียดทำได้เรียบร้อยดี สามารถเปิดประโปรงท้ายได้ด้วยการกดปุ่มบน Smart Key คาไว้ 3 วินาที ไม่สามารถพับเบาะหลังได้ ใต้พื้นห้องยังมียางอะไหล่มาให้
สรุปความน่าใช้
ภายใต้รูปร่างหน้าอันแสนหล่อเหลา City ใหม่สร้างความประทับใจได้แบบเกินคาด ยอมรับก่อนขับเราก็คิดเหมือนกันว่ารถฮีโค่คาร์เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบ คงไม่เท่าไรหรอก น่าจะออกแนวนุ่มๆ เนิบๆ เน้นความประหยัดมากกว่า แต่ที่ไหนได้ เมื่อมาลองขับแล้วจึงได้รู้ซึ้งถึงพิษสงที่แท้จริงของรถคันนี้ City ใหม่มีพละกำลังมากเกินกว่าคำว่าอีโค่คาร์ มันสามารถขับขี่เนิบๆ ในเมืองได้อย่างนุ่มสบายแต่ถ้าต้องการซิ่งเมื่อไรได้เรื่องแน่ เราก็ไม่อยากจะเชื่อว่ารถอีโค่คาร์จะวิ่งทะลุ 200 กม./ชม. แต่มันเป็นไปแล้วจริงๆ นอกจากจะเร็วแล้วยังหนึบด้วย ถ้าให้เทียบกับรุ่นก่อนหน้า City ใหม่ดีขึ้นมากมาย และถ้าให้เทียบกับคู่แข่งร่วมคลาส City ใหม่ก็อยู่ในลำดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
จุดที่ City ใหม่ยังต้องพัฒนาต่อไปคือออปชั่นบางอย่างน่าจะกระจายจากรุ่นท็อปลงมารุ่นล่างๆ บ้าง รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ยังเป็นรองคู่แข่งอย่าง Mazda 2 และ Nissan Almera อย่างไรก็ตาม City ใหม่ก็เริ่มต้นได้ดีและยอดขายก็กำลังไปได้สวย ตัวเลือกที่น่าสนใจก็น่าจะเป็นรุ่น SV นี่แหละ ราคาดี ออปชั่นดี แต่ถ้าอยากหล่อสุดๆ ต้องไปรุ่น RS เราขอฟันธงว่าถ้าชอบอีโค่คาร์พลังสูง เร็ว แรง จัด All-New Honda City แล้วคุณจะไม่ผิดหวัง
ขอขอบคุณ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย สำหรับกิจกรรมทดสอบในครั้งนี้
ดูรายละเอียดสเปก All-New Honda City ได้ที่ http://bit.ly/2XQSZoW
ราคา All-New Honda City
- รุ่น RS ราคา 739,000 บาท
- รุ่น SV ราคา 665,000 บาท
- รุ่น V ราคา 609,000 บาท
- รุ่น S ราคา 579,500 บาท