หลายท่านน่าจะรู้จักเอสยูวี (SUV) และเอ็มพีวี (MPV) เป็นอย่างดี รถยนต์ทั้งสองประเภทนี้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย SUV หรือ Sport Utility Vehicle คือรถยนต์อเนกประสงค์แบบสปอร์ต ออกแบบมาเพื่อการขับขี่ใช้งานแบบสมบุกสมบัน สามารถลุยไปได้ทุกที่ทั้งทางเรียบและป่าเขา บวกกับมีความสปอร์ต รูปลักษณ์สวยงาม เครื่องยนต์มีกำลังสูง และสามารถขนสัมภาระได้มากมาย ส่วน MPV หรือ Multi Purpose Vehicle คือรถยนต์อเนกประสงค์เหมือนกันแต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อลุยทางฝุ่น เน้นการใช้งานเป็นรถครอบครัว รองรับผู้โดยสารได้เยอะ และมาพร้อมกับความหรูหราสะดวกสบายกว่า แล้วถ้าหากเอารถทั้งสองประเภทนี้มารวมกันล่ะ?
แน่นอนว่าตลาดรถยนต์บ้านเรามีการเติบโตและแข่งขันกันสูงมาก รถ SUV ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในวงกว้าง พร้อมกับบรรดาค่ายรถต่างนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากันอย่างคึกคัก แต่เมื่อมาดูที่รถ MPV กลับมีตัวเลือกไม่หลากหลายเท่า มิตซูบิชิเป็นค่ายรถที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในเซกเมนต์นี้ และพวกเขากล้าที่จะแตกต่างด้วย Mitsubishi Xpander รถยนต์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ที่มิตซูบิชินิยามว่าเป็นครอสโอเวอร์ที่ผสมผสานความเป็น MPV กับ SUV เข้าด้วยกัน เป็นการบุกเบิกเซกเมนต์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีค่ายไหนทำมาก่อนในตลาด
Mitsubishi Xpander เปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเกือบๆ 1 ปีที่แล้ว พร้อมกับได้รับความนิยมเป็นอย่างมากที่นั่นโดยมียอดจำหน่ายสะสมจนถึงปัจจุบันมากกว่า 50,000 คัน ทำให้หลายคนเริ่มจับตามองรถรุ่นนี้และรอคอยว่าเมื่อไรจะมาไทย ในที่สุดการรอคอยของคนไทยก็สมหวังเพราะมิตซูบิชิประกาศทำตลาดรถอเนกประสงค์หน้าตาล้ำอนาคตคันนี้ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Big Motor Sale 2018
เป็นเรื่องน่ายินดีที่มิตซูบิชิเชิญชวนให้เราไปทดลองขับ Xpander ก่อนเปิดตัวสู่สาธารณะชน การทดสอบครั้งนี้มีระยะทางรวมกว่า 3,000 กม. ตั้งแต่ภาคเหนือที่เชียงราย มุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง แล้วลัดเลาะลงไปยังภาคใต้ ทีมงาน WHATCAR? อยู่ในกลุ่มที่ 4 ได้ขับขี่บนเส้นทาง กรุงเทพ – นครสวรรค์ รถที่ขับเป็นรุ่นท็อป GT เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปดูกันเลยว่ารถอเนกประสงค์ที่ผสมผสานความเป็น SUV และ MPV เข้าด้วยกันจะดีงามอย่างไร
ดีไซน์ภายนอก
Mitsubishi Xpander มาพร้อมดีไซน์ที่ล้ำสมัย โดดเด่น ดึงดูดทุกสายตา ด้วยเอกลักษณ์การออกแบบ Advanced ‘Dynamic Shield’ ซึ่งสะท้อนถึงปรัชญาการออกแบบ ‘Form Follows Function’ หรือรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับการใช้งาน มีความลงตัวด้วยดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยวผสานเข้ากับความแข็งแกร่ง เป็น Design Language แบบเดียวกับ Pajero Sport
โดดเด่นด้วยกระจังหน้าโครเมียมแบบทึบดีไซน์โฉบเฉี่ยว ผสานกับกันชนหน้าดีไซน์สปอร์ตดุดัน คุณสมบัติการใช้งานและความปลอดภัยที่ได้รับจากดีไซน์แบบ Advanced ‘Dynamic Shield’ ปรากฏให้เห็นชัดเจนที่ด้านหน้าและตำแหน่งของไฟหน้า ขณะที่ไฟหรี่แบบ Crystal LED ถูกติดตั้งอยู่ด้านบนของฝากระโปรงและเยื้องมาด้านหน้าซุ้มล้อจึงช่วยให้ผู้ใช้ทางเท้าและยานพาหนะอื่นๆ สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น น่าเสียดายที่ไฟหรี่นี้ไม่ได้ติดตลอดเวลาแบบไฟเดย์ไทม์ รันนิ่ง ไลท์
ไฟหน้ามัลติรีเฟล็กเตอร์ติดตั้งในกันชนหน้าเพื่อเลี่ยงไม่ให้แสงจากไฟหน้ารบกวนสายตาผู้ใช้ทางเท้ารวมถึงผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สวนมา ถัดลงมาเป็นไฟเลี้ยว และไฟตัดหมอกหน้าทรงกลม
มือเปิดประตูและคิ้วขอบกระจกประตูเป็นโครเมียม มีแผ่นกันกระแทกสีเงินที่ใต้กันชนหน้าและหลัง รวมถึงคิ้วขอบประตูด้านล่างข้างตัวรถ เสริมภาพลักษณ์สมบุกสมบันแบบเอสยูวีได้เป็นอย่างดี
ด้านท้ายมาพร้อมกับไฟท้าย LED L-Illumination Tube ดีไซน์หรูพร้อมไฟเบรกแบบแยกส่วน ด้านบนมีสปอยเลอร์ติดตั้งมาให้พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED บริเวณกันชนท้ายติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงมาให้ด้วย
มิติตัวรถยาว 4,475 มม. กว้าง 1,750 มม. สูง 1,700 มม. ระยะฐานล้อ 2,775 มม. น้ำหนัก 1,240 กก. รถที่เราทดสอบติดตั้งล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 205/55 R16
Xpander แสดงออกถึงการผสมผสานระหว่าง SUV และ MPV อย่างชัดเจนด้วยความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถที่มากกว่ารถยนต์ในเซกเมนต์เดียวกันที่ 205 มม. (สำหรับล้ออัลลอย 16 นิ้ว) เพิ่มศักยภาพการบุกตะลุยได้บนหลากหลายสภาพเส้นทาง พร้อมข้ามผ่านได้ทุกอุปสรรค และช่วยให้ฝ่าสภาพน้ำท่วมขังได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีมิติตัวถังที่ใหญ่โต และมาพร้อมกับตำแหน่งที่นั่งขับขี่ที่สูงกว่า
ภายในครบครัน
ภายในห้องโดยสารของ Xpander เปี่ยมด้วยความสะดวกสบายและมีความกว้างขวางที่สุดในรถระดับเดียวกัน มิติในห้องโดยสารที่กว้างและสูง สามารถปรับเบาะที่นั่งที่ได้อย่างอเนกประสงค์ รองรับผู้โดยสารสูงสุด 7 คนด้วยพื้นที่ช่วงขาและช่วงไหล่พร้อมให้ความกว้างขวางสะดวกสบาย
ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยโทนสีดำ ได้รับการพัฒนาจากแนวคิด “โอโมเตะนาชิ” (Omotenashi) หรือการดูแลและใส่ใจในทุกรายละเอียดแบบญี่ปุ่น เบาะหุ้มหนังและวัสดุหนังสังเคราะห์ทั้ง 3 แถว วัสดุภายในห้องโดยสารเป็นพลาสติกแข็งเกือบทั้งหมดทั้งแดชบอร์ดและแผงประตูแต่มีการขึ้นลายให้มีลักษณะคล้ายกับวัสดุหนัง พร้อมตกแต่งด้วยสีเงินตัดกับห้องโดยสารโทนสีดำเพื่อความหรูหรา พวงมาลัยและหัวเกียร์หุ้มด้วยหนัง
การออกแบบภายในห้องโดยสารเป็นไปตามอัตลักษณ์ดีไซน์แบบแนวราบ (Horizontal Axis) ในการจัดเรียงแผงควบคุมทั้งหมดช่วยให้ผู้ขับขี่เข้าถึงอารมณ์การขับเคลื่อนของตัวรถ พร้อมกับช่วยเพิ่มทัศนวิสัยด้านหน้าและมอบความปลอดโปร่งยิ่งขึ้นแก่ห้องโดยสาร รองรับการใช้งานได้อย่างครบครันด้วยช่องจัดเก็บของมากมายและช่องชาร์จกระแสไฟฟ้า 12V 3 ตำแหน่งสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ครบครันด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทั้งกุญแจอัจฉริยะและปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันปรับระดับสูง-ต่ำและปรับเข้า-ออก สวิตช์ควบคุมระบบเครื่องเสียงบนพวงมาลัย และ Cruise Control ชุดหน้าปัดเป็นแบบเข็มบอกวัดรอบเครื่องยนต์และวัดความเร็ว พื้นหลังเป็นลวดลายเคฟลาร์ มาพร้อมจอแสดงผลข้อมูลการขับแบบสามมิติ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว
ระบบความบันเทิงเป็นเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 6.2 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อตั้งแต่ CD และ DVD ไปจนถึง Bluetooth, USB และ AUX มาพร้อมลำโพงทั้งหมด 6 จุด คุณภาพเสียงถือว่าพอใช้ได้ และยังสามารถปรับ EQ ได้เองด้วย
เบาะแถว 2 แยกพับ 60:40 มีที่เท้าแขนตรงกลาง ปรับเลื่อน-ปรับเอนได้ สามารถพับพนักพิงราบลงกับเบาะนั่ง แล้วกระดกไปแนบกับด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้าเพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารเบาะแถว 3 เข้า-ออก เบาะแถว 3 แยกพับแบบ 50:50 พื้นที่วางขาสำหรับเบาะแถว 3 ค่อนข้างจำกัด เหมาะสำหรับเด็กเล็ก ถ้าผู้ใหญ่นั่งต้องปรับเลื่อนเบาะแถว 2 ไปข้างหน้าเล็กน้อย
สะดวกสบายด้วยแอร์ตอนหลังแยกอิสระ 4 ช่อง ปรับระดับแรงลมได้อย่างทั่วถึง พร้อมช่องจ่ายไฟ 12V และช่องเก็บของมากมาย เนื่องด้วยเบาะแถว 2 และแถว 3 สามารถพับราบเสมอกันได้ทั้งหมด ห้องเก็บสัมภาระของ Xpander จึงมีขนาดใหญ่มาก แถมยังมีช่องเก็บของใต้พื้นสำหรับใส่ของจุกจิก
ขุมพลังใต้ฝากระโปรง
Mitsubishi Xpander ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์อลูมินัมอัลลอยเบนซินขนาด 1.5 ลิตร DOHC MIVEC 16 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด พร้อมปุ่ม Overdrive สำหรับเรียกกำลังเพื่อเร่งแซง รองรับน้ำมัน E20
ช่วงล่างแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลงที่ด้านหน้าและทอร์ชันบีมที่ด้านหลัง มอบสมรรถนะการควบคุมที่ยอดเยี่ยมให้กับ Xpander ติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า EPS พร้อมระบบเบรกด้านหน้าแบบดิสก์ ด้านหลังแบบดรัม
การขับขี่
เริ่มต้นจากกรุงเทพในเช้าตรู่อันสดใส หลักจากรับฟังบรรยายเส้นทางพร้อมแนะนำสเปกและฟังก์ชันต่างๆ ของรถ เราเกิดความสงสัยขึ้นเล็กน้อยว่ารถขนาดใหญ่น้ำหนักตัวเกือบ 1.5 ตันแบบนี้ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แรงม้าน้อยนิดเพียง 104 ตัว และเกียร์ 4 สปีดจะเอาอยู่ไหม แต่ของแบบนี้มันต้องพิสูจน์ด้วยการขับจริงเท่านั้น
การจราจรในเมืองตอนเช้าๆ ค่อนข้างคล่องตัว Xpander ขับขี่ได้อย่างสุขุมนุ่มนวล เครื่องยนต์และเกียร์รองรับการขับไหลๆ ตามการจราจรได้อย่างดีเยี่ยม แม้ว่าอัตราเร่งตอนต้นจะค่อนข้างอืดแต่เมื่อลอยตัวแล้วก็ตอบสนองได้ดี
ด้วยความที่เป็นเกียร์ 4 สปีด อัตราทดระหว่างเกียร์จึงค่อนข้างกว้าง จังหวะเปลี่ยนเกียร์จึงมีการเสียจังหวะอยู่นิดๆ เพราะรอบเครื่องยนต์ที่ตัดลงมาเยอะ แต่ก็ยังนุ่มนวลไม่น่ารำคาญจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบ INC (Idle Neutral Control) ที่จะตัดต่อกำลังในเกียร์ D บนเส้นทางราบ เวลาเหยียบเบรกระบบจะตัดกำลังไปสู่เกียร์ N เมื่อปล่อยเบรกระบบจะตัดต่อกำลังไปสู่เกียร์ D อีกครั้ง เพื่อช่วยเรื่องอัตราสิ้นเปลือง
เมื่อออกจากกรุงเทพมุ่งหน้าสู่ จ.นครสวรรค์ ก็ถึงเวลายืดเส้นยืดสายเจ้าอเนกประสงค์หน้าตาล้ำอนาคตคันนี้แล้ว ที่ความเร็วเดินทาง 100-120 กม./ชม. เครื่องยนต์และเกียร์ยังไหวอยู่ การคิ๊กดาวน์เพื่อเร่งแซงต้องเผื่อระยะสักหน่อยเพราะไม่ได้ดึงแบบฉับพลัน เครื่องยนต์ทำงานที่รอบค่อนข้างสูงราว 2,500-3,000 รอบต่อนาที เพราะฉะนั้นการขับทางไกลอาจจะไม่ประหยัดเท่าไรนัก
และเพื่อให้สมกับการเป็นครอสโอเวอร์เอ็มพีวี ทางมิตซูบิชิจึงจัดให้มีเส้นทางออฟโรดให้ได้ทดสอบกันพอหอมปากหอมคอ Xpander ที่มีความสูงใต้ท้องรถ 205 มม. สามารถลุยผ่ายหล่มโคลนและหลุมพ่อได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่ารถคันนี้ครบจบทุกเส้นทางจริงๆ
พวงมาลัยของ Xpander มีน้ำหนักกำลังดี ที่ความเร็วต่ำจะเบา หมุนควงง่าย พอขับความเร็วสูงก็จะหนืดขึ้นและให้ความมั่นคง ระยะฟรีพวงมาลัยมีพอเหมาะพอดีทำให้ควบคุมง่ายทั้งยังมีความคมและแม่นยำพอตัว
ช่วงล่างของ Xpander ทำงานได้คุ้มค่าจ้างมาก แม้ตัวรถจะค่อนข้างสูงแต่ยังหนึบและมั่นคงดีมาก ไม่ค่อยโคลงเคลงและโยนตัวเมื่อเข้าโค้งความเร็วสูง ขณะที่ระบบกันสะเทือนก็ยังมีความนุ่มนวลเทียบเท่ารถราคาแพงกว่า ป้องกันแรงสะเทือนจากถนนไม่ให้เข้าสู่ห้องโดยสารได้ดี วิ่งผ่านรอยปะถนนหรือคอสะพานได้อย่างสบายใจ
เบรกค่อนข้างลึก เหยียบแรกๆ มีความรู้สึกเหมือนเบรกไม่ค่อยอยู่ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจให้ชิน หลังจากนั้นจะใช้งานได้ปกติ มีความหนึบและนุ่มนวล
อีกจุดที่น่าชื่นชมคือการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก Xpander มีการติดตั้งวัสดุซับเสียงรอบห้องโดยสาร การขับขี่ความเร็ว 120 กม./ชม. ยังคงสบายหูอยู่ เสียงลมและเสียงถนนไม่เข้ามารบกวนจนน่ารำคาญเกินไป ขณะเดียวกันก็ยังป้องกันแรงสะเทือนจากเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
จากการขับขี่มาทั้งหมด ใช่ความเร็วเดินทางที่ 100-120 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองจากหน้าปัดแสดงตัวเลขอยู่ที่ราว 12 กม./ลิตร ถ้าดูจากสเปกที่มิตซูบิชิยืนยัน 14.5 กม./ลิตร ถือว่าใกล้เคียง เอ็มพีวี 7 ที่นั่งที่สามารถทำต้องเลขได้ระดับนี้ถือว่าน่าพอใจเลยทีเดียว
สาเหตุที่ Xpander ยังใช้เกียร์ 4 สปีดรุ่นโบราณอยู่เป็นเพราะรถรุ่นนี้ออกแบบมาเพื่อเน้นทำตลาดในอินโดนีเซีย ซึ่งที่นั่งจะเน้นการใช้งาน เน้นความทนทาน ดูแลรักษาง่ายไม่จุกจิก นอกจากนี้เกียร์ 4 สปีดกับรถเอ็มพีวีตัวใหญ่ที่เน้นความคุ้มค่าแบบนี้ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะคงไม่มีใครเอารถครอบครัวแบบนี้ไปซิ่งแหกด่านอยู่แล้ว
ความปลอดภัย
Mitsubishi Xpander อัดแน่นด้วยระบบความปลอดภัยทั้งในเชิงป้องกันและปกป้องครบครัน ได้แก่ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ASC-Active Stability Control) ระบบป้องกันการลื่นไถล (TCL-Traction Control System) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA-Hill Start Assist System) ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก (ABS-Anti Lock Braking System) ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EBD-Electronic Brake Force Distribution) ระบบเสริมแรงเบรก (BA-Brake Assist) ระบบไฟกะพริบฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS-Emergency Stop Signal System) ถุงลมนิรภัยด้านคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับและระบบผ่อนแรงอัตโนมัติ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง และเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด 5 ตำแหน่งสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง ตลอดจนกล้องมองภาพด้านหลัง
สรุปความน่าใช้
Mitsubishi Xpander ผสมผสานความเป็นเอสยูวีและเอ็มพีวีเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม สมรรถนะของรถเหมาะสมกับการเป็นรถครอบครัวที่อัตราเร่งไม่ต้องจัดแต่เน้นขับสบายและนุ่มนวล เกียร์ 4 สปีดที่น่ากังขาเมื่อลองแล้วก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ที่น่าชื่นชมคือช่วงล่างและระบบกันสะเทือนที่ทำมาดีมาก และสิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันคือความสามารถในการลุยด้วยความสูงใต้ท้องรถที่มากกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป เจอทางลูกรัง หลุมบ่อ หรือน้ำท่วมขังก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป
ความอเนกประสงค์ของ Xpander คือจุดแข็งอีกประการหนึ่งของรถรุ่นนี้ ภายในกว้างขวางมาก พร้อมห้องเก็บสัมภาระขนาดใหญ่เมื่อพับเบาะ ทำให้ทุกการเดินทางสามารถขนไปได้หมดทั้งคนทั้งของ จุดด้อยของ Xpander น่าจะอยู่ที่การตกแต่งห้องโดยสารเพราะยังดูราคาถูกไปนิด ใช้วัสดุพลาสติกแข็งมากเกินไปทำให้ดูแข็งทื่อและอาจเป็นรอยขูดขีดได้ง่าย
Xpander ผลิตและนำเข้าจากอินโดนีเซียทั้งคัน แต่มีการควบคุมการผลิตอย่างเข้มข้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของมิตซูบิชิประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเรื่องคุณภาพการผลิตน่าจะไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง เหลือเพียงอย่างเดียวคือราคาค่าตัวที่จะมาชี้วัดว่า Xpander จะเกิดหรือจะดับ
Mitsubishi Xpander จะเปิดตัวและเปิดราคาอย่างเป็นทางการที่งาน BIG Motor Sale 2018 ณ ไบเทค บางนา รอติดตามรายละเอียดกันได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.mitsubishi-motors.co.th หรือ www.facebook.com/MitsubishiMotorsTH
Gallery