ตลาดครอสโอเวอร์เอสยูวีในบ้านเราถึงจุดที่ผลิบานเต็มที่ นับย้อนกลับไปประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว รถยนต์ประเภทนี้ยังเป็นชนกลุ่มน้อยท่ามกลางรถกระบะและรถเก๋งซีดานที่แทบจะครองพื้นที่ทั้งหมดของท้องถนน ปัจจุบันรถครอสโอเวอร์แสดงจุดเด่นของตัวเองสู่สายตาผู้ใช้รถด้วยความโดดเด่นด้านดีไซน์และความอเนกประสงค์ที่มีมากกว่ารถซีดานทั่วไป ด้วยความที่ตัวรถถูกยกสูงเพิ่มขึ้นทำให้พวกมันสามารถลุยได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าใต้ท้องจะขูดพื้นหรือจอดดับกลางแอ่งน้ำขัง
ด้วยความนิยมชมชอบที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ค่ายรถหลายเจ้าต่างเข็นผลิตภัณฑ์เด่นของตัวเองลงสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันในกลุ่มนี้มีความเข้มข้นดุเดือดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคอมแพ็คครอสโอเวอร์ที่ตอนนี้มีตัวเลือกให้ผู้บริโภคมากมาย อาทิ Toyota C-HR, Honda HR-V, MG ZS และ Mazda CX-3 แน่นอนว่าตอนนี้ค่ายรถจากเมืองฮิโรชิม่าเป็นเจ้าแห่งเก๋งเล็กด้วยยอดขายของ Mazda2 ที่พุ่งกระชูดในทุกๆ เดือน แต่เชื่อหรือไม่ว่าในกลุ่มคอมแพ็คครอสโอเวอร์ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม
ล่าสุดมาสด้าแก้เกมด้วยการส่ง CX-3 2018 Collection เข้ามาต่อกรกับคู่แข่ง อัพเกรดเทคโนโลยีความปลอดภัยที่เป็นจุดขายเดิมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมแสดงจุดยืนด้านความเป็นที่หนึ่งด้านงานดีไซน์ด้วยการปรับปรุงรายละเอียดภายนอกและภายในห้องโดยสารให้ดูสวยงามพรีเมียมเข้าใกล้ความเป็นรถยุโรปมากขึ้น
ตามธรรมเนียมเมื่อเปิดตัวรถใหม่ บริษัทผู้ผลิตก็จะร่อนจดหมายเชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์มาทดสอบสมรรถนะของรถยนต์รุ่นนั้น ในครั้งนี้มาสด้าพาเราไปขับทดสอบเจ้า CX-3 ใหม่ เส้นทาง กทม. – สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวมระยะทางไปกลับกว่า 400 กม. เราได้ลองทั้งเครื่องดีเซลและเบนซิน เส้นทางมีครบทุกรสชาติทั้งในเมือง นอกเมือง และทางขึ้น-ลงเขา เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปดูกันเลยว่า การแก้เกมของมาสด้าในครั้งจะดีงามอย่างไร
มนต์เสน่ห์แห่งการขับขี่
รถยนต์มาสด้าทุกรุ่นขึ้นชื่อในเรื่องประสบการณ์การขับขี่ที่มาพร้อมกับความสนุกและสมรรถนะของรถที่ยอดเยี่ยม ซึ่ง CX-3 ใหม่ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง ขาไปเราออกเดินทางจากกรุงเทพมุ่งหน้าสู่ จ. ราชบุรี ด้วย CX-3 รุ่นท็อป 1.5 XDL 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิด 270 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,500 รอบ/นาที แน่นอนว่าไม่มีวันไหนที่ กทม. จะขับรถได้แบบโล่งๆ สบายๆ แต่ CX-3 ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยมากในการขับขี่บนสภาพการจราจรที่หนาแน่น รถมีความนุ่มนวล ขับสบาย ทัศนวิสัยด้านหน้าที่สูงกว่ารถเก๋งทั่วไปเล็กน้อย ทำให้การลัดเลาะเปลี่ยนเลนเป็นไปอย่างคล่องตัว
หลุดพ้นจากถนนที่แออัดด้านล่าง เปลี่ยนเข้าสู่ทางด่วน(ที่ไม่ค่อยด่วน) รถมีปริมาณมากแต่เรายังพอทำความเร็วได้ การตอบสนองของเครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตร ทำให้เราตระหนักได้ทันทีเลยวานี่คือรถมาสด้า อัตราเร่งดี พุ่ง เหยียบติดเท้า ประกอบกับพวงมาลัยที่เซ็ตมาได้น้ำหนักกำลังดี การเปลี่ยนเลนจึงทำได้อย่างฉับไว ควบคุมง่ายและมั่นคง
เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดของ CX-3 ตอบสนองได้รวดเร็วทันใจ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงได้อย่างนุ่มนวลทุกจังหวะ มีโหมด M สำหรับควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเอง จะเปลี่ยนที่คันเกียร์หรือตบแป้นแพดเดิลชิฟท์หลังพวงมาลัยก็ได้ การคิ๊กดาวน์เพียงแค่เพิ่มน้ำหนักเหยียบคันเร่งนิดเดียวรอบเครื่องก็จะดีดสูงขึ้นพร้อมตำแหน่งเกียร์จะลดต่ำลงเพื่อสร้างแรงดึงอย่างฉับพลัน ทั้งกระบวนการทำได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอจังหวะให้น่าหงุดหงิด ทำให้การเร่งแซงเป็นไปอย่างนุ่มนวลและต่อเนื่อง
หลังจากหลุดพ้นกรุงเทพมหานคร เราก็ได้มีโอกาสใช้ความเร็วที่สูงขึ้น การเร่งจากความเร็วต่ำสู่ความเร็วสูงทำได้นุ่มนวลและรวดเร็ว เหยียบนิ่มๆ เพียงแป๊บเดียวเข็มความเร็วก็ขึ้นมาที่ 120 กม./ชม. แล้ว ที่น่าสนใจคือรอบเครื่องยังอยู่ต่ำเฉียดๆ 2,000 รอบต่อนาทีเท่านั้น
การขับขี่ความเร็วสูงรู้สึกว่ามั่นคงและนิ่งขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะมาสด้ามีการปรับปรุงโช้คอัพและสปริงใหม่เพื่อการทรงตัวที่ดีขึ้น ช่วงล่างให้ความรู้สึกหนึบแน่น กระชับ ทั้งยังให้ความนุ่มนวลในระดับที่น่าประทับใจ รถสามารถป้องกันแรงสะเทือนจากรอยปะและรอยต่อถนนได้ดี จัมพ์คอสะพานไม่กระเด้งกระดอนจนเกินงาม การขับผ่านลูกระนาดหรือฝาท่อก็ยังคงเก็บอาการได้อยู่หมัด
สนุกสนานผ่านโค้ง
ในการทดสอบครั้งนี้มีเส้นทางที่เป็นทางโค้งสลับเนินสูง-ต่ำ และเป็นทาง 2 เลนสวนกัน ทางแบบนี้บางคนอาจบอกว่าขับยากและค่อนข้างอันตราย ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์พอสมควร ซึ่งเราก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่การที่รถของเรามีช่วงล่างและการควบคุมที่ดีก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจขึ้นได้อีกเยอะเลย
CX-3 ได้ติดตั้งระบบ G-Vectoring Control มาเป็นมาตรฐาน โดยระบบประมวลผลการบังคับพวงมาลัย ความเร็ว และน้ำหนักของรถ แล้วจะคอยควบคุมแรงบิดให้ถ่ายกำลังลงสู่ล้อแต่ละข้างอย่างเหมาะสม การขับขี่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงจึงเป็นไปอย่างมั่นคง รถเกาะโค้งดีมาก หนึบ อาการโยนมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผสานกับเทคโนโลยี SKYACTIV Chassis ที่เป็นการปรับเซ็ตช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวให้มีอารมณ์แบบสปอร์ต จึงมอบความสนุกและความหนึบแน่นในการสาดโค้งได้เป็นอย่างดี เราพบว่ารถมีอาการโคลงตัวบ้างเล็กน้อยเมื่อเจอกับกับผิวถนนที่ไม่ค่อยเรียบสม่ำเสมอ
พวงมาลัยของ CX-3 มีน้ำหนักกำลังดี ความเร็วต่ำก็จะเบาหมุนควงง่ายไม่ต้องใช้แรงมาก พอความความเร็วสูงก็จะหนืดขึ้น ระยะฟรีที่น้อยทำให้ควบคุมได้รวดเร็วฉับไว กะระยะได้ง่าย และรถเปลี่ยนไปตามทิศทางที่กำหนดได้ค่อนข้างไว
ขณะเดียวกันเมื่อเจอเนินกำลังของรถก็แทบไม่ตกเลย สามารถขับผ่านไปได้อย่างสบายๆ การเร่งแซงบนถนนเลนสวนทำได้รวดเร็วและกระฉับกระเฉง ไม่ต้องมาลุ้นมาจะแซงพ้นหรือไม่
เบนซินก็มีดี
ในขากลับของการทดสอบทริปนี้เราได้สลับมาควบเจ้า CX-3 2.0 SP รุ่นท็อปเครื่องเบนซิน มาพร้อมกับฝูงม้า 156 ตัว ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิด 204 นิวตันเมตร ที่ 2,800 รอบ/นาที มีโหมดสปอร์ตให้เล่น ฟีลลิ่งการขับขี่และการควบคุมไม่ต่างกันมาก อัตราเร่งตอนต้นเป็นรองดีเซลอยู่เล็กน้อย แต่พอเริ่มลอยตัวแล้วราว 80 กม./ชม. การไต่สู่ความเร็วสูงทำได้เร็วกว่าดีเซล การคิ๊กดาวน์เพื่อเร่งแซงก็ตอบสนองได้ไวกว่า รอบเครื่องจะกระชากขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมเสียงเครื่องยนต์ที่คำรามอย่างหนักแน่น
รุ่นเบนซินยิ่งความเร็วสูงยิ่งขับสนุก การลากรอบสูงทำได้ไหลลื่น โหมด Sport รอบเครื่องจะคาสูงกว่าโหมดปกติเล็กน้อยเพื่อพร้อมสำหรับการกระชากวิญญาณ เครื่องดีเซลว่าขับสนุกแล้วแต่เครื่องเบนซินให้ความสนุกจี๊ดจ๊าดมากกว่าที่ความเร็วสูง
จุดเด่นของ CX-3 เครื่องดีเซลก็คือความประหยัด เราขับขี่ด้วยความเร็ว 110-120 กม./ชม. บนถนนเพชรเกษม และลดลงมาที่ 80-100 เมื่อเข้าสู่ตัวอำเภอสวนผึ้งและถนนเป็น 2 เลนสวน ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ที่ราวๆ 16-17 กม./ลิตร เทียบกับค่าจากโรงงานที่ 22.2 กม./ลิตร แล้วถือว่าทำได้ดีพอสมควร แถมยังมีระบบ i-STOP มาช่วยเพิ่มความประหยัดอีกแรง ส่วนรุ่นเบนซินนั้นกินจุกว่าด้วยความเป็นเครื่องใหญ่ไร้เทอร์โบผลจึงเฉลี่ยจึงออกมาที่ราว 12 กม./ลิตร
CX-3 ใหม่มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียงรบกวนเพื่อให้ผู้โดยสารด้านหน้าและด้านหลังพูดคุยกันสะดวกขึ้นด้วยการเพิ่มความหนาของกระจกประตูคู่หลังจาก 3.5 เป็น 4 มม. เพิ่มความหนาของยางขอบประตู รวมทั้งเพิ่มความหนาของวัสดุซับเสียงที่บานประตูและหลังคา ตลอดการทดสอบขับขี่หากขับไม่เกิน 100 กม./ชม. ถือว่าเงียบขึ้นมาพอสมควรเลย เมื่อเกิน 100 กม./ชม. ขึ้นไปเสียงลมและยางบดถนนจะเริ่มดังขึ้นตามความเร็วที่ใช้ ข้อดีของเครื่องดีเซลเมื่อเทียบกับเบนซินคือที่ความเร็วเท่ากันเช่น 120 กม./ชม. ดีเซลจะใช้รอบเครื่องต่ำกว่าเบนซิน ทำให้ได้เปรียบทั้งความประหยัดที่มากกว่าและเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบกว่า
ภายในยังคงเป็นที่หนึ่ง
เราไม่ปฏิเสธเลยว่ามาสด้าออกแบบภายในของรถทุกรุ่นได้สวยงามสุดๆ ด้วยการดีไซน์ที่ละเอียดลออและประณีตสวยงาม แถมยังแฝงด้วยความสปอร์ตที่เร้าใจนักขับ คุณภาพและการประกอบก็ดีเยี่ยม CX-3 ใหม่มีการปรับปรุงดีไซน์ภายในหลายจุด เมื่อได้นั่งขับแล้วจะรู้สึกได้ถึงอารมณ์แบบรถหรูสไตล์ยุโรปทันที
แดชบอร์ดหน้ามีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ ตกแต่งด้วยวัสดุผ้าคล้ายหนังกลับสีเทา Grand Luxe Suede พร้อมช่องแอร์ทรงกลมเติมสีสันด้วยขอบสีแดง คอนโซลกลางมีการปรับปรุงใหม่โดยเปลี่ยนจากเบรกมือแบบคันโยกเป็นปุ่มกดแบบไฟฟ้า เพิ่มความสวยงามและทำให้มีพื้นที่มากขึ้นสำหรับที่วางแขนพร้อมกล่องเก็บสัมภาระที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลายรูปแบบ
เบาะคนขับเป็นแบบปรับด้วยมือ รูปทรงของโอบกระชับกำลังดี สามารถหาตำแหน่งนั่งขับได้ง่าย พวงมาลัยสามารถปรับได้ 4 ทิศทาง ทัศนวิสัยการมองด้านหน้า-ด้านข้างดี แต่มุมมองกระจกหลังผ่านไหล่ไม่กว้างมากนักเพราะด้วยตัวกระจกที่ลาดเอียงและไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก มาพร้อม Active Driving Display แสดงข้อมูลการขับขี่และการนำทางในระดับสายตา
ข้อจำจัดของ CX-3 ใหญ่ๆ เลยก็คือพื้นที่ภายในที่ค่อนจำกัดโดยเฉพาะเบาะตอนหลังเนื่องด้วยรูปทรงของรถที่ทำออกมาเน้นความสปอร์ตประกอบกับประตูบานหลังและเสาท้ายที่ออกแบบในสไตล์คูเป้ ทำให้พื้นที่ด้านหลังไม่ว่าจะเป็นเบาะหลังหรือห้องเก็บสัมภาระมีจำกัด แต่ข้อด้อยนี้ก็ได้รับการแก้ไขโดยการเพิ่มหลังคาซันรูฟไฟฟ้าเข้ามาเพื่อความโปร่งสบายของห้องโดยสาร
เบาะหลังนั่งสูงสุดได้ 3 คน ถ้าเอาสบายๆ แค่ 2 ก็พอ สำหรับคนที่แขนขายาวหัวเข่าติดอาจเบาะหน้าแต่พื้นที่เหนือศีรษะยังมีเหลือ เบาะหลังตัวกลางดึงลงมาเป็นที่วางแก้วได้ พนักพิงเบาะหลังพับราบเสมอกับพื้นห้องเก็บสัมภาระได้แบบ 60:40 ใส่ของใหญ่ได้ไม่มีปัญหา
ระบบ MZD Connect หน้าจอ 7 ลองใช้งานดูแล้วพบว่ามีความลื่นไหล ตอบสนองรวดเร็ว กราฟิกสีสันสวยงาม หน้าตาระบบดูง่าย ระบบแผนที่นำทางแม่นยำ อีกทั้งคุณภาพเครื่องเสียงก็อยู่ในระดับดี ทั้งยังรอบรับการเชื่อมต่อและแอพพลิเคชันได้หลากหลาย ถูกใจสายโซเชียลแน่นอน
อัพเกรดเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
รูปลักษณ์ภายนอกของ CX-3 มีความสวยงามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เส้นสายที่พริ้วไหวมอบความสปอร์ตปราดเปรียวในทุกมุมมองตั้งแต่ด้านหน้าจรดด้านท้าย สิ่งที่อัพเกรดเข้ามาใหม่ในรุ่น 2018 Collection ก็คือ กระจังหน้า ไฟตัดหมอก แถบโครเมียมตกแต่งชายล่าง เสาประตูตกแต่งสีดำเงา ล้ออัลลอยลายใหม่ขนาด 18 นิ้วพร้อมยาง Toyo Tires ขนาด 215/50 R18 ไฟท้ายแบบวงแหวนเหมือนกับ CX-5 ตัวใหม่ และสีตัวถังใหม่ 2 สี คือ สีแดง โซล เรด คริสตัล และสีเทา แมชชีน เกรย์ แม้จะเป็นการปรับนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ทำให้ CX-3 ใหม่ โดดเด่นสะดุดตาทุกครั้งไม่ว่าจะขับไปที่ไหน
ระบบความปลอดภัยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้อัพเกรดเพิ่มเติมเข้ามา จากเดิมที่มีรายการอุปกรณ์ยาวเป็นหางว่าว ทั้งเทคโนโนลียี i-ACTIVSENSE ชุดระบบความปลอดภัยมาตรฐานระดับโลก 9 ระบบ ตลอดจนอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานที่ครบครัน CX-3 2018 Collection เสริมความครบครันขึ้นไปอีกด้วยระบบแสดงภาพ 360 องศาพร้อมกล้องมุมมอง Top View แสดงผลผ่านหน้าจอกลางบนแดชบอร์ด จาการใช้งานจริงพบว่ามันช่วยอำนวยความสะดวกในภารถอยจอดได้เป็นอย่างดีทั้งแบบซองลึกและซองข้าง เป็นปกติที่จะงุนงงกับมุมมองของภาพในช่วงแรกๆ แต่ใช้งานไปสักพักก็จะเริ่มเข้าใจและจับจังหวะได้เอง
สรุปความน่าใช้
CX-3 2018 Collection คือการก้าวเข้าสู่สิ่งที่ดีกว่า การปรับปรุงในครั้งนี้เป็นการเพิ่มคุณค่าโดยที่ยังไม่เสียเอกลักษณ์ของตัวเองไปนั่นคือการขับขี่และการควบคุมแบบสปอร์ต ความสนุกสนาน ตอบสนองดีเยี่ยม การบังคับควบคุมที่เฉียบคมและแม่นยำ รวมถึงความนุ่มนวลที่สัมผัสได้ มันคือความกลมกล่อมที่น่าจะถูกใจใครหลายๆ คน
เราไม่มีข้อกังขาในด้านสมรรถนะแต่รถคันนี้ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถปกปิดได้คือพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่ยังเป็นรองคู่แข่ง เอาล่ะ ถ้าคุณไม่สนใจประเด็นนี้ คุณซื้อ CX-3 เป็นรถคันแรก คุณมีแฟน และคุณรักการขับขี่ รถคันนี้คือความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง แต่ถ้าคุณมีครอบครัวและต้องเดินทางไกลบ่อย รถคันนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร คุณอาจต้องมองไปที่ CX-5 ซึ่งความกลมกล่อมข้างต้นที่เรากล่าวจะถูกบรรจุอยู่รถบอดี้ใหญ่ขึ้น
CX-3 2018 Collection รุ่นเบนซิน 2.0 SP ราคาเท่าเดิมคือ 1,083,000 บาท ส่วนรุ่นดีเซล 1.5 XDL ปรับราคาลงมา 4,000 บาท เหลือ 1,189,000 บาท ทั้งสองรุ่นยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่ ออปชันเหมือนกันเกือบทุกอย่าง ดีเซลเน้นประหยัด เบนซินเน้นสมรรถนะ อยู่ที่ว่าคุณชอบและต้องการเปิดเผยตัวตนด้านไหน
ดูสเปก Mazda CX-3 2018 Collection ที่นี่
Gallery