การลากจูงเทรลเลอร์ในอาจพบเห็นได้ไม่บ่อยในเมืองไทย แต่ถ้าเกิดอยากท่องเที่ยวพักผ่อน หรือมีความจำเป็นต้องใช้การลากจูงในการประกอบธุรกิจ ผู้ขับขี่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องมีความชำนาญและใส่ใจในรายละเอียด มีทักษะการขับรถที่ดี และรู้จักการคำนวณน้ำหนักเพื่อการบรรทุกที่เหมาะสม
วันนี้ What Car? ขอแนะนำเคล็ดลับสำหรับการลากจูงที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง
1.คำนวณน้ำหนักก่อนบรรทุก
น้ำหนักสุทธิของรถ (Gross combined weight rating – GCWR) คือ น้ำหนักรวมทั้งหมดของรถยนต์และเทรลเลอร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมัน ผู้โดยสาร สัมภาระ อุปกรณ์ และอุปกรณ์ตกแต่ง โดยน้ำหนักรวมทั้งหมดไม่ควรเกินอัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถ ซึ่งสามารถดูได้จากคู่มือสำหรับรถยนต์ของคุณ สำหรับการตรวจสอบว่าน้ำหนักของรถยนต์และเทรลเลอร์อยู่ในอัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถหรือไม่ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
- เริ่มต้นจากน้ำหนักรถเปล่า (Curb weight)
- บวกน้ำหนักของเทรลเลอร์ซึ่งบรรทุกสัมภาระและพร้อมสำหรับการเดินทาง
- บวกน้ำหนักของผู้โดยสารทุกคนบนรถ
- บวกน้ำหนักของสัมภาระทั้งหมดภายในรถยนต์
- บวกน้ำหนักของชุดลากจูง เช่น เหล็กต่อพ่วงรถ (Drawbar) ชุดลากหัวบอล (Ball mount)บาร์คู่สำหรับรับน้ำหนัก (Load equalizer bars) หรือบาร์ค้ำลากจูง (Sway bar)
- บวกน้ำหนักของอุปกรณ์ตกแต่งหรืออุปกรณ์ต่างๆ จากตลาดหลังการขาย (Aftermarket) ที่ติดตั้งเพิ่มเติมในรถยนต์
2.เลือกรถให้เหมาะสม
เมื่อต้องติดตั้งอุปกรณ์การลากลูง ควรจะหารถที่มีความเหมาะสม มีกำลังเพียงพอ และรองรับการลากจูงได้ตามนำหนักที่ต้องการ รถกระบะรุ่นใหม่ในปัจจุบันสามารถลากจูงเทรลเลอร์ที่มีระบบเบรกได้ถึง 3,500 กิโลกรัม และรถอเนกประสงค์สามารถลากจูงได้ถึง 3,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ ถ้ารถมีเทคโนโลยีช่วยในการลากจูง อาทิ ระบบลดอาการส่ายขณะลากจูงเทรลเลอร์ (Trailer Sway Control) ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางลาดชัน (Hill Start Assist) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control) และระบบช่วยลงทางลาดชัน (Downhill Mode) ก็จะช่วยทำให้การขับขี่พร้อมกับลากจูงเทรลเลอร์สะดวกสบายยิ่งขึ้น
3. เลือกตะขอลากที่เหมาะสม
การเลือกตะขอลากจูงและสายไฟเชื่อมต่อที่เหมาะสม มีผลต่อการควบคุมรถยนต์ การเข้าโค้ง และการเบรก รวมถึงทำให้คุณสามารถส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่คนอื่น เมื่อต้องเปลี่ยนช่องจราจรหรือเลี้ยวขณะลากจูงได้ ก่อนที่จะเลือกตะขอลากจูงหรือเทรลเลอร์ คุณควรจะเรียนรู้น้ำหนักที่รถของคุณสามารถบรรทุกหรือลากจูงได้ก่อน และปรึกษาผู้ที่มีความเชียวชาญในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการใช้งานที่เหมาะสม
4.ติดตั้งโซ่เซฟตี้เพื่อความปลอดภัย
ติดตั้งโซ่เซฟตี้ระหว่างรถยนต์และเทรลเลอร์ของคุณเสมอ โซ่เซฟตี้จะต้องพาดผ่านใต้ตัวยึดของเทรลเลอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยึดตกลงมา เมื่อเทรลเลอร์หลุดออกจากตะขอลาก
5.กระจายน้ำหนักสัมภาระ
เมื่อบรรทุกสัมภาระในเทรลเลอร์ ควรให้น้ำหนัก 60% ของสัมภาระอยู่ค่อนไปทางด้านหน้าของเทรลเลอร์ และกระจายน้ำหนักด้านข้างให้เท่าๆ กัน การบรรทุกสัมภาระโดยให้น้ำหนักค่อนไปด้านหน้าหรือหลังมากเกินไป อาจทำให้เทรลเลอร์แกว่งได้ ไม่บรรทุกสัมภาระเกินน้ำหนักที่รถยนต์ของคุณสามารถรับไหว โดยสัมภาระดังกล่าวรวมถึงน้ำหนักของตัวยึด (Tongue Weight) ซึ่งคือแรงกดจากตัวครอบหัวบอลบนหัวลากจูงของรถเทรลเลอร์ โดยปกติ จะหนักประมาณ 10% – 15% ของน้ำหนักเทรลเลอร์ที่บรรทุกสัมภาระ สำหรับหัวลากจูงปกติ
6.เคล็ดลับอื่นๆ ที่ควรรู้
เมื่อต้องถอยเทรลเลอร์ ให้วางมือข้างหนึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาของพวงมาลัย เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายเทรลเลอร์ไปทางซ้ายให้หมุนพวงมาลัยไปด้านซ้าย และหากต้องการให้เทรลเลอร์ไปด้านขวาให้หมุนพวงมาลัยของคุณไปด้านขวา ถอยเทรลเลอร์ทีละนิดอย่างช้าๆ เพื่อรักษาการควบคุม
ควรเผื่อระยะในการเบรกเมื่อรถของคุณลากจูงเทรลเลอร์อยู่ ระยะห่างที่ปลอดภัยคือ การเว้นช่องว่างขนาดเท่ารถยนต์ที่ลากจูงเทรลเลอร์ 1 คัน ระหว่างรถของคุณและรถคันข้างหน้า สำหรับความเร็วทุกๆ 20 กม./ชม.
อย่าพยายามหลีกเลี่ยงการแกว่งของเทรลเลอร์ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เมื่อเทรลเลอร์แกว่ง ให้พยายามบังคับพวงมาลัยให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมปล่อยคันเร่ง (โดยไม่แตะเบรก) และดึงเบรกมือไฟฟ้าของเทรลเลอร์ (ถ้ามี)
สำหรับการขับรถยนต์ขึ้นเขาหรือทางลาดชัน การใช้เกียร์ต่ำจะทำให้รถยนต์มีกำลังหรือแรงบิดมากขึ้น ควรขับรถยนต์ขึ้นเขาหรือทางลาดชันด้วยความเร็วที่ไม่มากไปกว่าความเร็วที่คุณใช้เพื่อขับลงเขา และเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำเพื่อใช้แรงจากเครื่องยนต์ช่วยในการเบรกขณะที่ขับลงจากเขาหรือทางลาดชัน