ครอสโอเวอร์รุ่นใหม่จากมาสด้าถูกวางตำแหน่งให้อยู่กึ่งกลางระหว่าง CX-3 กับ CX-5 หลายเสียงบอกว่านี่คือ Mazda 3 ยกสูงพร้อมกับปรับลุคให้ดูทะมัดทะแมงขึ้น ก็อาจจะจริงแต่ก็ไม่ทั้งหมด แม้ว่าเครื่องยนต์ โครงสร้างตัวถัง ภายนอก ภายใน และช่วงล่าง จะเอาของ Mazda 3 มาใช้ แต่การปรับจูนในรายละเอียดต่างๆ นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง CX-30 จึงเป็นรถยกสูงที่ยังมอบคาแร็กเตอร์การขับขี่แบบมาสด้าพร้อมกับความสะดวกสบายและความอเนกประสงค์ที่เพิ่มขึ้น มันจึงเป็นรถที่น่าใช้สำหรับคนที่ต้องการความเป็นมาสด้าในมิติที่ต่างออกไป
น่าเสียดายที่วิกฤตไวรัสโคโรน่าทำให้งานเปิดตัวของ CX-30 ที่มาสด้าเตรียมงานไว้อย่างยิ่งใหญ่เป็นอันต้องถูกยกเลิก เราจึงมีโอกาสได้เห็น CX-30 ผ่านตามสื่อต่างๆ เท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดมาสด้าก็ยืนยันที่จะจัดทริปทดสอบขึ้น นี่จึงเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เจอ CX-30 ตัวจริงพร้อมกับขับทดสอบในเส้นทางพิษณุโลก – ขอนแก่น รวมระยะทางกว่า 300 กม. ผ่านทั้งถนนในเขตเมือง ทางราบ และทางลาดชันบนภูเขาที่เป็น 2 เลนสวนกัน เรียกว่าครบทุกรสชาติและยังสามารถวัดประสิทธิภาพของรถได้เป็นอย่างดี
การขับขี่
เราได้ขับ Mazda CX-30 รุ่นท็อป 2.0 SP ขุมพลังใต้ฝากระโปรงเป็นบล็อกเดียวกับ Mazda 3 เจนเนอเรชั่นล่าสุดคือเบนซิน SKYACTIV-G 4 สูบ 2.0 ลิตร 165 แรงม้า แรงบิด 213 นิวตันเมตร จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ด้วยน้ำตัวที่มากว่ารถเก๋งพอสมควร ชุดเกียร์จึงต้องมีการปรับอัตราทดใหม่ให้สูงขึ้นเล็กน้อยสำหรับการตอบสนองที่กระฉับกระเฉง
เริ่มต้นจากตัวเมืองพิษณุโลกกับการขับขี่ผ่านถนนที่มีรถรามากมาย เราเริ่มขับในโหมด Normal เครื่องยนต์มีความสมูธนุ่มนวลดีมากทั้งรอบเดินเบาและรอบต่ำ เสียงเงียบ การขับคลานที่ความเร็วต่ำจึงให้ความรู้สึกไม่ต่างจากรถหรูราคาแพง ขณะเดียวกันเกียร์ก็ส่งกำลังในแต่ละจังหวะอย่างนุ่มนวลไร้รอยต่อ รวมถึงช่วงล่างที่รู้ได้ทันทีว่านุ่มกว่า Mazda 3 ดูดซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า ขับผ่านรอยปะถนน ฝาท่อ เส้นจราจร รู้สึกเลยว่ากระด้างน้อยกว่า
หลุดจากตัวเมืองเราก็ได้ลองทดสอบอัตราเร่งบ้างตามจังหวะ ทันทีที่กดคันเร่งออกตัวจากแยกไฟแดงรถพุ่งทะยานด้วยความกระฉับกระเฉง แรงดึงที่สัมผัสได้มีพอให้รู้สึกสนุก ตรงนี้ถ้าเทียบกับ Mazda 3 แล้ว CX-30 จะอืดกว่าเล็กน้อย ออกแนวนุ่มแต่มาเรื่อยๆ เหลือบเห็นเข็มวัดความเร็วค่อยๆ ไต่ขึ้นเพียงครู่เดียวก็ถึงความเร็ว 120 กม./ชม. แล้ว
เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดทำงานได้ดีในทุกย่านความเร็ว มีโหมดแมนวลมาให้เล่นเกียร์ด้วยตัวเองพร้อมกับแพดเดิลชิฟท์ที่พวงมาลัย จังหวะการเปลี่ยนเกียร์มีความฉับไวพอตัวและนุ่มนวล เกียร์มีความฉลาดเลือกตำแหน่งได้สัมพันธ์กับความเร็วที่ขับได้ดี ขณะขึ้นเนินถ้ารู้สึกว่ากำลังของรถเริ่มตกเกียร์จะชิฟท์ดาวน์ลงด้วยความรวดเร็วเพื่อเรียกกำลังแรงบิด อัตราทดในเกียร์ต่ำค่อนข้างชิดกันเพื่อความต่อเนื่องนุ่มนวลและจะค่อยๆ ห่างขึ้นเมื่ออยู่ในเกียร์สูง
ลองคิ๊กดาวน์ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. เพื่อเร่งแซงรถช้าพบว่าไม่ต้องกดคันเร่งลงไปลึกเกียร์ก็ชิฟท์ลงมารอที่เกียร์ 4 แล้ว กำลังที่ได้มีมากพอให้แซงโดยไม่ต้องลุ้นทั้งทางราบและขึ้นเนิน การตอบสนองต่อการเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเองค่อนข้างฉับไวทั้งการโยกที่คันเกียร์และตบแป้นแพดเดิลชิฟท์ หากคุณเล่นเกียร์แมนวลได้อย่างชำนาญแล้ว การขับลัดเลาะไปตามโค้งและขึ้น-ลงเนินจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน
พอลองเปลี่ยนไปขับโหมด Sport เครื่องยนต์และเกียร์ก็ปล่อยของทันที แต่ละจังหวะของการเปลี่ยนเกียร์จะลากรอบสูงขึ้น คันเร่งตอบสนองไวขึ้น การคิ๊กดาวน์ทำได้เร็วขึ้น พอเจอเนิน CX-30 วิ่งสู้ฟัดโดยที่กำลังของรถแทบจะไม่ตกเลย การเร่งแซงบนถนนเลนสวนทำได้ไวไม่ต้องลุ้น โดยรวมแล้วแม้จะไม่สุดติ่งเท่า Mazda 3 แต่เท่าที่สัมผัสได้ก็ถือว่าสนุกสนานไม่เบสำหรับรถยกสูงคันนี้
ที่ความเร็วต่ำพวงมาลัยของ Mazda CX-30 เบาแต่ยังมีแรงขืนพร้อมดีดกลับแฝงอยู่ ระยะฟรีมีไม่เยอะทำให้การตอบสนองของพวงมาลัยนั้นค่อนข้างไว แม่นยำ และเป็นธรรมชาติ พอใช้ความเร็วสูงขึ้นพวงมาลัยจะหนืดขึ้น นิ่ง แน่น ขับแล้วรู้สึกมั่นใจ ระยะฟรีมีพอเหมาะ การหักเข้าโค้งหน้ารถตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติ คาดเดาอาการได้ง่าย คม และแม่นยำ นี่คือพวงมาลัยที่ขับแล้วรู้สึกชอบ มันเหมาะกับการขับลัดเลาะไปตามโค้งซ้าย-ขวา ขับช้าๆ ในเมืองอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่พอเอามาเล่นโค้งแล้วรู้สึกสนุกและมั่นใจขึ้นเยอะเลย
ช่วงล่างของ CX-30 คนละอารมณ์กับ Mazda 3 เห็นได้ชัดที่ความเร็วสูงบนทางตรงที่มันจะนุ่มกว่าแต่ยังหนึบแน่นและให้ความมั่นใจได้ไม่ต่างกัน รถวิ่งได้นิ่งสนิท ไม่โคลงไม่ส่าย จังหวะสาดโค้งด้วยความเร็วค่อนข้างเนียนมากๆ รถเกาะถนนดีมาก อาการโยนมีน้อย ตัวถังรักษาสมดุลและการทรงตัวในโค้งได้ดี
อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เข้าโค้งได้อย่างสนุกและมั่นใจก็คือระบบ G-Vectoring Control PLUS ที่จะเพิ่มการเบรกหน้าซ้าย/ขวาเพื่อดึงหน้ารถให้เข้าทิศทางได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางคนเคี้ยวบนเขาที่เจ้า CX-30 ไม่ทำให้รู้สึกมึนหัวเลย เข้าโค้งได้อย่างสนุก รถไม่โยกเยก พวงมาลัยคมและตอบสนองไว มั่นใจ ปลอดภัย ถ้าเทียบกับ Mazda 3 ที่มีความสูงน้อยกว่าแล้ว รายนั้นจะให้ความสนุกได้มากกว่า คมและกระชับกว่า แต่ถ้าเทียบตามมาตรฐานครอสโอเวอร์ยกสูงที่มีในตลาดตอนนี้แล้วล่ะก็ CX-30 อยู่ในลำดับต้นๆ ในแง่การควบคุมอย่างได้อย่างไม่ต้องสงสัย
แป้นเบรกของ CX-30 มีระยะฟรีพอสมควร ในช่วงเหยียบแรกๆ รถจะยังไม่ค่อยหน่วง ต้องเพิ่มน้ำหนักลงอีกสเต็ปนึงถึงจะรู้ว่าเริ่มหน่วง เบรกแบบนี้ข้อดีคือความนุ่มนวลที่ไม่ทำให้หน้าทิ่มแน่นอน แต่การใช้งานช่วงแรกต้องสร้างความคุ้นชินกับการกะจังหวะเบรก แล้วถ้ากระทืบแป้นเบรกล่ะ? มีจังหวะได้ลองอยู่ซึ่งเราพบว่าเบรกสามารถหยุดยั้งความเร็วจาก 100 กม./ชม. ลงมาสู่ความเร็วต่ำได้เวลาอันรวดเร็วโดยรถไม่เสียการควบคุม มั่นใจได้ว่าถ้าเบรกฉุกเฉินจริงๆ ก็เอาอยู่เพราะตัวช่วยต่างๆ ก็มีครบทั้ง ABS, EBD และ BA
ตลอดเส้นทางการขับขี่เราประทับใจกับการป้องกันเสียงรอบกวนของ CX-30 มาก เสียงลม เสียงยาง เสียงช่วงล่าง ถูกป้องกันเอาไว้เป็นอย่างดี ต้องขับเกิน 110 กม./ชม. แล้วตั้งใจฟังถึงจะได้ยินเสียงลมที่เล็ดลอดเข้ามาตามซอกหน้าต่าง เสียงยางจะเริ่มได้ยินตอน 90 กม./ชม. เสียงเครื่องยนต์เงียบมาก จะดังจริงๆ ก็ตอนคิ๊กดาวน์เร่งแซงนั่นแหละ ส่วนแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์นั้นไม่มีเลย
เนื่องจากการขับทดสอบทริปนี้เราต้องการรับรู้ถึงสมรรถนะของรถ ดังนั้นจึงไม่ได้ขับเพื่อเน้นความประหยัดเลย ตัวเลขที่แสดงออกมาบนหน้าปัดอยู่ที่ราว 11-12 กม./ลิตร เมื่อขับตามเส้นทางที่คดเคี้ยวสลับขึ้น-ลงเนิน เมื่อเจอทางราบตัวเลขก็ดีขึ้นที่ 13-14 กม./ลิตร
Mazda CX-30 ใหม่มาพร้อมกับระบบช่วยขับมากมายพอๆ กับ Mazda 3 ขณะขับขี่เราได้ลองใช้ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันตามรถคันหน้า MRCC การทำงานของมันถือว่าใช้ได้เลย เบรกและเร่งตามรถข้างหน้าได้นุ่มนวล อีกระบบที่ได้ลองคือระบบช่วยควบคุมให้รถอยู่ในเลน LAS ถ้าหากเผลอขับเบี่ยงไปใกล้เส้นจราจร พวงมาลัยจะสั่นเตือนและช่วยรั้งไว้ไม่ให้รถออกนอกเลน แต่ทั้งสองระบบจะทำงานได้ดีในทางตรงยาวๆ มากกว่า
ภายในกว้าง สิ่งอำนวยความสะดวกมาครบ
เราจำความรู้สึกขณะนั่งขับในรถ Mazda 3 ได้แม่น ทุกอย่างรอบตัวดูกระชับ ท่านั่งสปอร์ตต่ำติดพื้น พื้นที่ตอนหน้าไม่มีปัญหาแต่เบาะหลังแคบ พอมานั่งใน CX-30 ที่ยกเอารูปแบบดีไซน์ทุกอย่างของ Mazda 3 มาใช้ในขนาดห้องโดยสารที่ใหญ่ขึ้น มันรู้สึกได้เลยว่าสบายตัวขึ้น ทัศนวิสัยการมองรอบตัวรถดีขึ้นจากความสูงของเบาะนั่งที่มากขึ้น มุมมองด้านหน้ารถกว้างไกลขึ้น เสา A-pillar ไม่บดบังการมองตรงบริเวณมุมรถจนเกินไป อย่างไรก็ตามมุมมองผ่านไหล่ไปกระจกหลังยังแคบอยู่เหมือนเดิม
การเข้า-ออกรถสะดวกทั้ง 4 ด้าน เบาะคนขับปรับไฟฟ้าปรับไฟฟ้า 10 ทิศทางพร้อมตัวดันหลังปรับไฟฟ้า มีระบบบันทึกตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง ตัวเบาะถูกคิดค้นมาอย่างดีตามหลักสรีระศาสตร์เพื่อชวยมอบความสบายสูงสุด เมื่อลองนั่งแล้วก็รู้สึกว่ามันนั่งสบายจริง เบาะนุ่มและโอบกระชับลำตัว ขับนานๆ แล้วไม่เมื่อย
พื้นที่เบาะหน้ามีเพียงพอกับคนตัวสูง 180 ซม. เบาะหลังรู้สึกได้เลยว่านั่งสบายขึ้นกว่า Mazda 3 ชัดเจน ถ้าคนตัวสูงมานั่งจะมีพื้นที่ช่วงศีรษะและช่วงขาเยอะขึ้น นั่งทางไกลนานๆ แล้วสบายตัว เบาะก็มีความนุ่ม พนักพิงเอนกำลังได้องศา เบาะตัวกลางดึงลงว่าเป็นที่วางแขนพร้อมช่องวางแก้วน้ำ อุโมงค์กลางไม่ใหญ่จนรู้สึกว่าเกะกะ มีช่องแอร์ด้านหลังให้ความเย็นได้แบบทั่วถึง
มาสด้าให้ความสำคัญกับบรรยากาศภายในห้องโดยสารมาก เห็นได้จากการออกแบบแดชบอร์ดให้ดูโล่ง มินิมอล แต่แฝงด้วยความพรีเมี่ยมจากหนังบุนุ่ม หน้าจอกลางแบบลอยตัวขนาด 8.8 นิ้วตั้งอยู่ในระดับสายตา จอนี้แสดงภาพได้สวยงามคมชัด หน้าตาเมนูต่างๆ ดูง่ายแถมเป็นภาษาไทยด้วย ควบคุมการใช้งานผ่านปุ่มหมุน Center Commander ที่คอนโซลกลางซึ่งถือว่าสะดวกมากเมื่อใช้งานขณะกำลังขับรถไปด้วย การตอบสนองของระบบสาระบันเทิงค่อนข้างลื่นไหล ฟังก์ชั่นใช้งานต่างๆ ครบครันตามสมัยนิยม รองรับการเชื่อมบลูทูธ Apple Carplay ทีเด็ดคือระบบเสียง Bose ลำโพง 12 ตำแหน่งที่ทุกคนพูดเหมือนกันว่าคุณภาพเสียงดีที่สุดในบรรดารถญี่ปุ่นที่วางขายในเมืองไทย การฟังเพลงโปรดระหว่างขับรถด้วยชุดเครื่องเสียงดีๆ ถือเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง มันทำให้คุณเพลิดเพลิน ใจเย็นลง อุบัติเหตุก็อาจจะลดลงตามไปด้วย
แผงหน้าปัดเป็นอีกจุดที่เราชื่นชอบ แม้ว่ามันจะไม่ค่อยมีสีสันสักเท่าไรแต่ดูๆ ไปแล้วลงตัว แผงหน้าปัดนี้เป็นแบบกึ่งดิจิตอล วงซ้ายวัดรอบ วงขวาวัดอุณหภูมิและระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ตรงกลางเป็นจอสีขนาด 7 นิ้วที่บอกครบทุกสิ่งอย่างที่ผู้ขับอยากรู้ตั้งแต่ความเร็ว อัตราสิ้นเปลือง ไปจนถึงระบบช่วยขับ นอกจากนี้ยังมี Head-up display สะท้อนข้อมูลสำคัญบนขึ้นกระจกหน้าผู้ขับขี่ทำให้ไม่ต้องละสายตาจากถนน
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบสปอร์ต 3 ก้านมีขนาดวงกำลังดี จับกระชับมือ ปรับระดับสูง-ต่ำและปรับเข้า-ออกได้ ขณะที่ตำแหน่งและขนาดของหัวเกียร์ก็ทำออกมาได้กระชับฝ่ามือ หน้าตาแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศดูทันสมัยและก็ใช้งานง่ายเช่นกัน แป้นเหยียบต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับเบาะนั่ง รายละเอียดทั้งหมดออกแบบโดยยึดหลักให้ผู้ขับเข้าถึงการควบคุมต่างๆ ได้ง่าย
ด้านความอเนกประสงค์ CX-30 มาพร้อมห้องเก็บสัมภาระท้ายขนาดใหญ่กว่า Mazda 3 เบาะแถว 2 พับแยกแบบ 60/40
สรุปความน่าใช้
ในความรู้สึกของเรา การมาของ CX-30 เหมือนเป็นการปิดประตู CX-3 ไปโดยปริยาย ปัญหาหลายอย่างใน CX-3 ถูกแก้ไขหมดใน CX-30 ด้วยราคาค่าตัวที่เขยิบขึ้นมาอีกระดับแลกกับสิ่งที่ได้รับแล้วนั้น การอัพเกรดมาเล่น CX-30 เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ครอสโอเวอร์คันนี้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดีตามแบบฉบับรถอเนกประสงค์ แม้สมรรถนะจะไม่จัดจ้านแต่ก็ขับดี การบังคับควบคุมดี ช่วงล่างนุ่มหนึบ มี GVC Plus ที่ขึ้นชื่อ ทำให้ไม่ว่าจะเล่นโค้งยังไงก็มั่นใจ นี่คือรถที่คนรักการขับขี่ต้องถูกใจ
ในด้านพื้นที่ภายในห้องโดยสารเรามองว่า CX-30 ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นจาก CX-3 และ Mazda 3 พอสมควรแล้ว กว้างขึ้น นั่งสบายขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกครบ ขนสัมภาระออกทริปวันหยุดได้อย่างไร้ปัญหา ถ้าคุณอยากรู้ว่ากว้างขึ้นมากน้อยแค่ไหน ต้องไปลองนั่งเองแล้วจะรักรถคันนี้ขึ้นมาทันที
ราคาค่าตัวของ CX-30 เริ่มต้นที่ 989,000 บาท มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย เลือกดูตามความเหมาะสมแล้วคุณจะพบกับครอสโอเวอร์ชั้นดีในลำดับต้นๆ ของเซกเมนต์
ขอขอบคุณ มาสด้า ประเทศไทย สำหรับกิจกรรมทดสอบในครั้งนี้
ดูรายละเอียดสเปก Mazda CX-30 ได้ที่นี่ http://bit.ly/32ZKR7V
Gallery