4 บริษัทภาคี Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่นหรือ CJPT) ประกอบด้วย บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส จำกัด , บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, และบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส จำกัด จัดกิจกรรมทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมแนะนำรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งาน ที่หลากหลายให้กับผู้ร่วมงานซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ประเภทองค์กร และบริษัทคู่ค้า
Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT ก่อตั้งในเดือนเมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการใช้เทคโนโลยีภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) อย่างแพร่หลายในวงกว้าง เพื่อมุ่งลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง ตลอดจนบรรลุสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยหลังจากที่ได้มีการประกาศความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา CJPT กำหนดเป้าหมายในการมุ่งขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงการจัดการด้านพลังงาน (Energy Solution) ทางเลือกด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) เช่น การจัดสรรยานพาหนะตามเป้าหมายการใช้งานอย่างเหมาะสม และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ รวมไปถึงการบริการจัดการด้านข้อมูล (Data Solution) โดยผสานจุดแข็งของแต่ละบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน
บนเส้นทางเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ลูกค้าอาจมองหารถที่มีระบบส่งกำลังแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานและการใช้งานของลูกค้าในแต่ละประเทศหรือภูมิภาค โดยมีตัวเลือกต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการนำเสนอทางเลือกด้านการขับเคลื่อนที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในภูมิภาคและความสามารถ ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ โครงการ CJPT มุ่งหวังให้งานทดลองสมรรถนะรถยนต์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรให้มากยิ่งขึ้น พร้อมช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการเร่งบรรลุเป้าหมายของโครงการ CJPT ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย
มร. ฮิโรกิ นากาชิมา ประธาน Commercial Japan Partnership Technologies Corporation เปิดเผยว่า “เรามุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคมด้วยการร่วมเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเอเชีย ผ่านการนำเสนอรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงต่ำ และให้ประสิทธิภาพสูง ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาจากผู้ทีเกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมสัมผัส่ประสบการณ์ทดลองขับรถยนต์เหล่านี้ และพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมในการประสานความร่วมมือกัน เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป”
สำหรับโครงการ CJPT ที่เริ่มปักหมุดก้าวแรกจากประเทศไทยนั้น มีแผนจะเร่งเดินหน้าขยายการใช้เทคโนโลยีในการลดคาร์บอนสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยบูรณาการองค์ความรู้ ความร่วมมือ กับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีวิสัยทัศน์ดียวกันเพื่อนำไปสู่การยกระดับชีวิตผู้คนในภูมิภาคเอเชียในท้ายที่สุด
ยานยนต์รุ่นหลักที่จัดแสดงภายในงาน
- TOYOTA SORA
- HINO FCEV Heavy Duty Truck
- ISUZU & TOYOTA FCEV Light Duty Truck
- TOYOTA Granace FCEV
- TOYOTA HILUX REVO BEV Concept
- TOYOTA LPG-HEV Taxi Concept
- SUZUKI EVERY Small Van
- DAIHATSU HIJET Small Van
- TOYOTA e-Palette
- YAMAHA H2 ROV*(Buggy
*แม้ว่ายามาฮ่า จะไม่ได้เป็นสมาชิกของ CJPT แต่ได้ร่วมนำยานยนต์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน สำหรับวัตถุประสงค์ที่แตกต่างมาเข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน ด้วยรถรุ่น ROV – (รถบักกี้ที่ใช้เป็นยานพาหนะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจนอกพื้นที่ถนน)
<ข้อมูลอ้างอิง : รายละเอียดโครงการ CJPT> ณ เดือนมีนาคม 2566
Commercial Japan Partnership Technologies Corporation | |
ที่ตั้ง | 1-4-18 โคะระกุ, บังเกียว-คุ โตเกียว |
เงินทุน | 10 ล้านเยน(โครงสร้างแหล่งเงินทุน : โตโยต้า 70%, อีซูซุ 10%, ซูซูกิ 10%, ไดฮัทสุ 10%) |
กรรมการผู้แทน | ฮิโรกิ นากาชิมา ดำรงตำแหน่งประธาน(กรรมการผู้จัดการของหน่วยธุรกิจรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายใต้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น) |
เริ่มต้นดำเนินการ | 1 เมษายน 2564 |
ธุรกิจหลัก | วางแผนเทคโนโลยีและการให้บริการเทคโนโลยี CASE สำหรับรถยนต์ เพื่อการพาณิชย์ |