ฟอร์ดเตรียมนำวัสดุระดับนาโนสองมิติ “กราฟีน” มาใช้ในงานชิ้นส่วนยานพาหนะเป็นครั้งแรกของวงการยานยนต์ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์กีฬาบางชนิดก็เคยใช้กราฟีนเป็นส่วนประกอบมาแล้ว
ในช่วงที่ผ่านมา กราฟีน ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการนำมาใช้ในงานทาสี พอลิเมอร์และแบตเตอรี่รถยนต์ต่างๆ วิศวกรหลายคน ขนานนามว่ากราฟีนเป็น “วัสดุสุดมหัศจรรย์” ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแกร่งว่าเหล็กถึง 200 เท่าและเป็นหนึ่งในวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ดีที่สุดโลก สามารถกันเสียงได้เป็นอย่างดี รวมถึงบางและมีความยืดหยุ่นสูงมาก ที่ถึงแม้จะมีราคาสูงและไม่ได้เหมาะกับทุกการใช้งาน แต่ฟอร์ด ร่วมกับอีเกิล อินดัสทรีและเอ็กซ์จี ไซแอนซ์ สามารถค้นพบวิธีที่จะนำกราฟีนมาใช้งานกับฝาครอบราวหัวฉีด ฝาครอบปั๊ม และฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหน้าเพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุดต่อรถยนต์
กราฟีน คืออะตอมของคาร์บอนที่หนาเพียง 1 ชั้น ซึ่งหากเรานำมันมาวางซ้อนกันหลายๆ ชั้นก็จะได้แกรไฟต์ที่เรารู้จักกันดีในรูปของไส้ดินสอนั่นเอง กราฟีนถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 แต่การพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก โดยการทดลองแรกที่สามารถแยกกราฟีนให้ออกมาได้อย่างสำเร็จ เกิดจากการเอาสก๊อตช์เทปทาบลงบนแกรไฟต์แล้วดึงออกครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้แผ่นแกรไฟต์บางลงเรื่อยๆ จนได้แผ่นที่บางที่สุดแค่อะตอมเดียวจนได้เป็นกราฟีน การทดลองนี้ชนะรางวัลโนเบลใน 6 ปีถัดมาหรือปี 2553 นั่นเอง
ในปี 2557 ฟอร์ด เริ่มทำการศึกษาวัสดุกราฟีน เพื่อนำมาทดลองใช้ในชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ เช่น ฝาครอบราวหัวฉีด ฝาครอบปั๊ม และฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหน้า รวมถึงพยายามลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ซึ่งโดยปกติ การเพิ่มคุณสมบัติเหล่านี้จะต้องใช้วัสดุมากขึ้นทำให้ตัวรถมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อนำกราฟีนมาใช้ก็พบว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นต่างออกไป
กราฟีนถูกนำมาผสมโดยมีโฟมเป็นส่วนประกอบ ฟอร์ดและซัพพลายเออร์ได้ทำการทดสอบและพบว่าเสียงรบกวนลดลงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การพัฒนาคุณสมบัติด้านเครื่องกลเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และการพัฒนาคุณสมบัติในการทนความร้อนเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบจากโฟมที่มีกราฟีนผสมอยู่ด้วย
คาดว่าจะมีการนำกราฟีนไปใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ในช่วงสิ้นปีนี้ โดยจะนำมาใช้กับชิ้นส่วนของฟอร์ด F-150, มัสแตง รวมถึงรุ่นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน