[Track Test] Volvo V60 & Volvo S60 ลงหวดในสนาม ขับดีต่างกัน แต่มันส์ทั้งคู่

           Volvo V60 และ S60 เปิดตัวในเมืองไทยได้ไม่นาน ทั้ง 2 โมเดลใช้พื้นฐานเดียวกัน ต่างเพียงรูปแบบตัวถังภายนอก S60 เป็นรถซีดาน 4 ประตูสุดภูมิฐาน ส่วน V60 เป็นรถเอสเตทที่เน้นการบรรทุกสัมภาระได้มากขึ้น ความน่าสนใจของทั้ง 2 โมเดลคือพวกมันเป็นรถสัญชาติสวีเดนที่มีความประณีตในทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ ความหรูหรา และหัวใจสำคัญที่สุดนั่นคือความปลอดภัย เมื่อคุณได้นั่งขับอยู่หลังพวงมาลัยในรถทั้ง 2 รุ่น คุณจะรู้สึกอุ่นใจตั้งแค่ก่อนเหยียบคันเร่งออกตัว

            กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วอลโว่ คาร์ส ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมทดสอบรถยนต์ขึ้นในชื่อ Volvo Driving Experience 2020 ณ สนามปทุมธานี สปีดเวย์ งานดังกล่าวทางวอลโว่ขนรถยนต์ทุกรุ่นที่มีขายในเมืองไทยมาให้ลูกค้าและสื่อมวลชนได้ทดสอบ ไฮไลท์ก็คือ V60 และ S60 ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานก็มีให้ได้ทดสอบที่งานนี้เป็นครั้งแรก ซึ่ง WHATCAR? Thailand ก็ไม่พลาดที่จะไปลิ้มลองรสชาติของสวีดิชคาร์ทั้ง 2 รุ่นนี้

            การทดสอบค่อนข้างเข้มข้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยแบ่งเป็นสถานีต่างๆ ที่เราจะได้สัมผัสกับประสิทธิภาพของรถได้อย่างครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่ง การบังคับเลี้ยว การตอบสนองช่วงล่าง ระบบช่วยเหลือในการขับขี่ ตลอดจนระบบเบรก พูดถึงระบบเบรก V60 และ S60 เป็นรถยนต์ 2 รุ่นแรกของวอลโว่ที่ไม่ใช้หม้อลมเบรกสุญญากาศแบบเดิมแล้ว แต่แทนที่ด้วยระบบเบรกแบบ brake by wire ซึ่งข้อดีของมันก็คือไม่ว่าคุณจะกระแทกแป้นเบรกหนักหรือเบาต่างกันอย่างไร การตอบสนองของเบรกจะคงที่อยู่เสมอ มันช่วยในเรื่องของความนุ่มนวลและความปลอดภัยได้มากขึ้น ลดน้ำหนักของระบบเบรกไปได้กว่า 10 กิโลกรัม และยังสามารถใช้ดึงพลังงานกลับจากการเบรกเพื่อมาเติมไฟให้แบตเตอรี่ได้

            สำหรับ V60 และ S60 ที่เราได้ขับนั้นเป็นรหัส T8 Twin Engine เครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่มีพละกำลังรวมกว่า 407 แรงม้า แรงบิดสูงถึง 640 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด แค่เสปกเครื่องยนต์ก็ทำให้รถสปอร์ตราคาแพงหน้าหงายได้แล้ว แต่เครื่องยนต์ตัวนี้ก็มีนิสัยสุภาพเรียบร้อย แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก ทั้ง 2 รุ่นเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ AWD โดยล้อหน้าขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป ล้อหลังขับเคลื่อนด้วยพลังมอเตอร์ไฟฟ้า

            โหมดขับขี่มี 5 โหมด ประกอบด้วย Pure ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน, Hybrid โหมดเริ่มต้นเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์, Power ให้การตอบสนองแบบสปอร์ต, Constant AWD ขับเคลื่อนสี่ล้อ ช่วยเพิ่มการยึดเกาะ และ Individual ปรับตั้งค่าต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งการทดสอบรอบนี้เร้าจะลองรุ่นละ 3 รอบเพื่อลองเปรียบเทียบระหว่างโหมด Hybrid, Power และ Constant AWD แล้วดูว่าฟีลลิ่งของแต่ละโหมดเป็นอย่างไร

ดีทั้งคู่แต่ฟีลลิ่งต่างกันเล็กน้อย

            เราเริ่มต้นทดสอบเจ้า V60 ก่อน หลังจากปรับเบาะนั่งและพวงมาลัยจนเข้าที่แล้ว เราเคลื่อนรถมาที่สถานีแรก Tri-Cone SLALOM สถานีนี้ต่างจาก SLALOM ปกติเพราะใช้กรวย 3 ตัววางในแต่ละจุดทำให้ต้องมีหักเลี้ยวรถมากขึ้น ท้าทายมากยิ่งขึ้น ทีมงานให้ใช้ความเร็ว 40-50 กม./ชม. ในการทดสอบ รอบแรกขับโหมด Hybrid การตอบสนองของพวงมาลัยต่อการหักเลี้ยวที่ความเร็วระดับนี้ยังคงอยู่ในเกณฑ์ควบคุมง่าย น้ำหนักพวงมาลัยไม่ที่หนักหรือเบาเกินไป รวมถึงระยะฟรีที่น้อยทำให้รถตอบสนองได้อย่างฉับไว คมและแม่นยำดีเลยทีเดียว รอบสองเปลี่ยนเป็นโหมด Power เห็นได้ชัดถึงความกระชับของพวงมาลัยและช่วงล่างที่เพิ่มขึ้น รอบสามในโหมด Constant AWD รับรู้ได้ถึงความหนึบที่เพิ่มขึ้นทั้งล้อหน้าและล้อหลัง

            พอเปลี่ยนมาเป็น S60 ขับ 3 รอบเหมือนกัน ไล่เรียงโหมดขับขี่เหมือนกัน เรารู้สึกได้ว่ามันควบคุมได้ง่ายกว่าในทุกโหมด ตอบสนองไวกว่า แคล่องแคล่วกว่า ท้ายรถเบากว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าไม่มีหลังคายื่นมาถึงกันชนหลัง โดยรวมเราจึงรู้สึกว่ามันขับง่ายและกระฉับกระเฉงกว่า V60

            สถานีที่ 2 เป็นสถานีจำลองเส้นทางแคบที่ถูกกำหนดไว้เป็นลักษณะของตัว L ต่อเนื่องกันโดยเริ่มจากการขับตรงเข้าไป เลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา ก่อนจะขับตรงไปเล็กน้อยและหักขวาและซ้ายอีกครั้ง ทั้ง V60 และ S60 เอาตัวรอดผ่านการหักเลี้ยวแคบๆ มุม 90 องศาได้โดยไม่รับประทานกรวย แสดงให้เห็นว่าแม้ตัวรถจะใหญ่โตแต่ก็ยังคล่องแคล่วในการลัดเลาะตามตรอกซอยแคบๆ ได้ การตอบสนองของพวงมาลัยและช่วงล่างยังคงยอดเยี่ยมเช่นเคย

            สถานีที่ 3 เป็น Double-Circles ขับวนรอบวงเวียน 2 รอบที่ความเร็ว 40 กม./ชม. เพื่อดูบาลานซ์ของรถรวมถึงองศาการเลี้ยวและการถ่ายเทน้ำหนัก ทั้ง V60 และ S60 ไม่ทำให้เรามึนหัวแต่อย่างใด รถมีการทรงตัวที่ดี ตัวถังไม่โยนมากเกินไป ไม่เสียการควบคุม การเปิดโหมด Constant AWD ยังช่วยเพิ่มความหนึบและมั่นคงขึ้นด้วย

            สถานีที่ 4 เป็น Cornering & Chicane เป็นการขับเข้าโค้งตามไลน์สนาม รวมไปถึงโค้งขวาสลับซ้ายต่อเนื่อง ทั้ง V60 และ S60 สามารถขับเข้าไลน์ได้อย่างมั่นใจและให้การตอบสนองที่ดี เหมือนเดิมเลยคือเรารู้สึกว่า S60 ทำดีกว่าเล็กน้อยในแง่ความกระชับและความเฉียบคม หน้ารถจิกเข้าโค้งได้ง่ายกว่า ต่างจาก V60 ที่จะรู้สึกว่าท้ายจะหนักๆ โหมด Power ให้อัตราเร่งที่ว่องไวขึ้น ช่วยล่างกระด้างขึ้นนิดหน่อย ทำให้ S60 ส่งต่ออารมณ์เรซซิ่งได้แบบเข้าถึงใจมากขึ้น แต่ V60 ก็ยังไปไม่ถึงขั้นนั้นอยู่ดี โหมด Constant AWD มอบการยึดเกาะที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้าใช้ระดับความเร็วเท่ากับ 2 โหมดแรกจะรู้สึกว่าคุมยากกว่าเล็กน้อยและจะบานออกนอกไลน์โค้งเดิม ต้องลดความเร็วลงถึงจะกลับเข้าร่องเข้ารอย

            ต่อจาก Cornering & Chicane เป็นสถานี Acceleration ทดสอบอัตราเร่ง ด่านนี้ไม่ต้องอะไรมากแค่กระทืบคันเร่งให้จมมิดก็พอ เราไล่ลองทั้ง 3 โหมดขับขี่พบว่า Hybrid และ Constant AWD ให้ผลลัพธ์แทบไม่ต่างกันเพราะจังหวะเร่งออกตัวรถจะปรับมาใช้กำลังสูงสุดจากทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์อยู่แล้ว แต่โหมด Power นี่แหละที่อาจทำให้รถสปอร์ตต้องเสียวสันหลัง 407 แรงม้ากับแรงบิด 640 นิวตันเมตรพาเรือนร่างหนักเกือบ 2 ตันของ V60 ทะยานแหวกอากาศพร้อมเสียงเครื่องยนต์ดังสุดขีดคลั่ง ตัวเลขความเร็วบนหน้าปัดพุ่งจาก 0-100 ในเวลาอันสั้น เกียร์ 1 ลากรอบสูงเกือบสุดเรดไลน์ก่อนตบเข้าเกียร์ 2 อย่างไหลลื่น สำหรับ S60 ที่ตัวเบากว่านั้นเรารับรู้ได้ถึงความว่องไวที่มากขึ้น แต่เอาเข้าจริงถ้าเทียบจะๆ คงไม่หนีห่างกันมากสักเท่าไร

            หลังจากกระทืบคันเร่งมาอย่างเมามันส์ก็ถึงจุดต้องชะลอก่อนเข้าโค้ง จังหวะนี้ระบบ brake by wire เข้ามาทำหน้าควบคู่กับแรงหน่วงจากมอเตอร์ไฟฟ้า เราลองใช้น้ำหนักการเหยียบแป้นเบรกที่แตกต่างกันในแต่ละรอบแต่ความนุ่มนวลและฟีลลิ่งในการหน่วงความเร็วยังใกล้เคียงกันในทุกรอบ

            สถานีต่อมาเป็น Double Lane Change ทีมงานให้ใช้ความเร็วเท่าที่เอาอยู่ ก่อนหักเปลี่ยนกะทันหัน ทั้ง V60 และ S60 ไม่ออกอาการเสียการควบคุมให้เห็น สามารถหักพวงมาลัยกลับคืนมาวิ่งในทางตรงได้อย่างรวดเร็ว แถมช่วงล่างก็เอาอยู่ หนึบแน่น ไว้ใจได้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

            ปิดท้ายการทดสอบด้วยสถานี Evasion Block หักหลบสิ่งกีดขวางแต่เพิ่มความท้าทายด้วยการให้เจ้าหน้าที่คอยยกธงสัญญาณสีเขียวว่าจะให้เราหักหลบไปทางซ้ายหรือขวาโดยไม่มีการบอกกันก่อนล่วงหน้า ความเร็วที่ใช้ 50 กม./ชม. การหักเลี้ยวกะทันหันต้องควบคุมรถอยู่ในช่องทางไปด้วยซึ่งนับเป็นการจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินให้เราฝึกการตอบสนองได้อย่างดี ทั้ง V60 และ S60 ต่างก็สอบผ่านกับสถานีนี้ แม้จะใกล้ชนสิ่งกีดขวางแล้วแต่พอหักเลี้ยวปุ๊บรถก็ตอบสนองอย่างทันท่วงที ไม่กินกรวย ไม่เสียการควบคุม แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นยังทำให้เข็มขัดนิรภัยดึงรั้งลำตัวโดยอัตโนมัติ เซฟตี้ทุกกระบวนท่าจริงๆ

สรุปการทดสอบ

                การทดสอบในวันนี้ทำให้เราได้รู้ว่าวอลโว่ให้กำเนิดรถยนต์นั่งชั้นเลิศที่มาพร้อมกับการขับขี่ที่น่าประทับใจขึ้นมาแล้ว ภายในเรือนร่างภายนอกที่หรูหราภูมิฐาน ขุมพลังเครื่องยนต์ของทั้ง 2 รุ่นนี้เรียกว่าไม่ธรรมดา สามารถไล่เชือดคู่แข่งค่ายเยอรมันได้แบบนิ่มๆ การบังคับควบคุม ช่วงล่าง ระบบเบรกต่างๆ ยอดเยี่ยมทั้งหมด และที่สำคัญ ระบบความปลอดภัยของเขาดีงามจริงๆ

            แม้ว่าทั้ง V60 และ S60 จะใช้พื้นฐานอะไรหลายๆ ร่วมกัน แต่พวกมันก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกัน V60 เป็นรถเอสเตท มันจึงเหมาะสมกับการเคลื่อนย้ายผู้คนและสิ่งของสัมภาระ ดังนั้นความสบายในการขับขี่ต้องมาเป็นที่หนึ่ง คุณสามารถเอาไปซิ่งได้แต่มันก็มีข้อจำกัดของตัวเอง ในขณะที่ S60 เป็นซีดาน คาแร็กเตอร์ของมันจึงเน้นไปที่การขับขี่มากกว่า ปราดเปรียวกว่า คล่องแคล่วกว่า ให้อารมณ์สปอร์ตได้ถึงใจกว่า ถ้าจะต้องเลือกสักคันหนึ่ง คุณต้องดูวัตถุประสงค์การใช้งานของตัวเองนั่นแหละว่าเป็นแบบไหน สำหรับเราแล้ว มันเป็นรถที่ดีทั้งคู่ แต่เราขอเลือก S60 เพราะชอบความเร้าใจที่ซีดานคันนี้มอบให้

            เหนือสิ่งอื่นใดคือประเด็นเรื่องราคาค่าตัว V60 เริ่มที่ 2.29 ล้านบาท S60 เริ่มที่ 2.19 ล้านบาท ลองนั่งไล่ดูระบบต่างๆ เทคโนโลยี ออปชั่น อุปกรณ์ความปลอดภัย เทียบกับรถค่ายเยอรมันดูเอาเองแล้วกันว่าใครคุ้มค่ากว่าใคร

ขอขอบคุณ วอลโว่ คาร์ส ประเทศไทย สำหรับกิจกรรมทดสอบครั้งนี้

ดูรายละเอียดสเปก Volvo V60 ได้ที่ http://bit.ly/2DD9fjY

ดูรายละเอียดสเปก Volvo S60 ได้ที่ http://bit.ly/31eTw5F

Gallery

Exit mobile version