[Track Test] ลองเทคโนโลยี Eyesight พร้อมจัดหนักในสนาม กับ Subaru Forester

            หากจะพูดถึงแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อลือชาในด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยแล้วล่ะก็ เราเชื่อว่า Subaru น่าจะเป็นค่ายที่หลายๆ คนคิดถึงเป็นอันดับแรก ค่ายนี้เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่าง รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ล้ำเกินหน้าเกินตาคู่แข่ง ซึ่ง Eyesight คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่สร้างชื่อให้กับค่ายดาวลูกไก่ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 30 ปีก่อน พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนตอนนี้มันได้บรรจุอยู่ใน Forester เจนเนอเรชั่นล่าสุดแล้วเรียบร้อย

            ปัจจุบัน Subaru Forester มีขายในไทย 3 รุ่นย่อย ประกอบด้วย Forester 2.0 i-L รุ่นเริ่มต้น, Forester 2.0 i-S และรุ่นย่อยใหม่ล่าสุด Forester 2.0 i-S Eyesight เป็นรุ่นท็อป เพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยี Eyesight นั้นเจ๋งจริง ซูบารุ ประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรม Subaru Ultimate Test Drive ขึ้นที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ทำความรู้จักและลองใช้เทคโนโลยีช่วยขับนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับทดสอบสมรรถนะของ Forester อย่างเต็มรูปแบบ จากที่เคยลองขับ Forester 2.0 i-S ไปแล้วบนถนนจริง วันนี้เราจะได้ลองสมรรถนะเต็มๆ ของรถในสถานีต่างๆ ที่ท้าทายและตื่นเต้นยิ่งขึ้น

Eyesight ดวงตาอีกคู่ของรถยนต์

            ก่อนที่จะไปหวดในสนาม เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยี Eyesight กันก่อนสักหน่อยดีกว่า Eyesight เป็นเทคโนโลยีที่มีแนวคิดตามชื่อของมันเลยคือ มี “ดวงตา” อีกคู่สำหรับคอยมองถนน ดวงตาที่ว่านี้คือกล้องสเตอริโอ 2 ตัวติดตั้งอยู่บริเวณกระจกมองหลัง กล้องนี้จับภาพเป็นภาพสีสามมิติ มีความละเอียดสูงและแม่นยำ ความสามารถของมันไม่ธรรมดา สามารถตรวจจับคนรถยนต์ เดินเท้า จักรยาน ได้ในระยะ 110 เมตร

            เทคโนโลยี Eyesight ประกอบด้วยฟังก์ชั่นสำคัญ ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control, ระบบเบรกอัตโนมัติล่วงหน้าก่อนการชน Pre-Collision Braking System, ระบบเตือนการออกนอกเลนและเตือนเมื่อรถส่าย Lane Sway and Departure Warning, ระบบเตือนรถด้านหน้าออกตัว Lead Vehicle Start Alert และ ระบบควบคุมคันเร่งป้องกันการชน Pre-Collision Throttle Management ซึ่งวันนี้เราจะได้ทดสอบ 2 ระบบแรกกันในสนาม

            เริ่มทดสอบระบบ Adaptive Cruise Control ด้วยการขับเรียงแถวตามคันหน้า กดเซ็ตความเร็วไว้ที่ 30 กม./ชม. กดเว้นระยะห่างจากคันหน้าไว้ปานกลาง ความพิเศษของ Adaptive Cruise Control ในรถคันนี้ คือสามารถตั้งค่าล็อกความเร็วได้ตั้งแต่รถหยุดนิ่ง ซึ่งปกติแล้วเราจะทำได้ต่อเมื่อรถวิ่งอยู่ ซึ่งตรงนี้ดีมากๆ เมื่อตั้งค่าต่างๆ เสร็จแล้วก็แค่ปล่อยเบรก แตะคันเร่งเล็กน้อย จากนั้นรถจะเคลื่อนตัวตามคันหน้าและรักษาระยะห่างไว้โดยอัตโนมัติ ถ้าเกิดรถคันหน้าออกตัวไปแล้วและเราไม่กดคันเร่ง ระบบจะส่งเสียงเตือนเพื่อแจ้งให้ออกตัวตาม ระบบสามารถเร่งและเบรกได้อย่างนุ่มนวล เมื่อคันหน้าเบรกจนหยุดนิ่ง ระบบก็จะสั่งให้รถของเบรกตามจนหยุดนิ่งด้วยเช่นกันโดยที่เท้าไม่ต้องแตะแป้นเบรกเลย

 

            ระบบ Adaptive Cruise Control ของ Forester สามารถตั้งความเร็วได้สูงสุด 180 กม./ชม. ข้อจำกัดของระบบนี้ก็คือ Eyesight ต้องตรวจเจอรถด้านหน้าได้อย่างชัดเจนถึงจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นหากขับรถในที่ที่ฝนตกหนัก หมอกลงจัด หรือปล่อยให้กระจกหน้าตรงบริเวณกล้องไม่สะอาด ระบบอาจจะทำงานคลาดเคลื่อนได้

            ต่อมาเป็นสถานีทดสอบระบบเบรกอัตโนมัติล่วงหน้าก่อนการชน Pre-Collision Braking System ระบบนี้ถือเป็นไฮไลท์และช่วยลดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด เมื่อกล้อง Eyesight ตรวจพบว่ามีวัตถุหรือรถคันหน้าที่เสี่ยงต่อการชน ระบบจะส่งเสียงพร้อมไฟกระพริบเตือนก่อน หากผู้ขับยังไม่เบรก ระบบจะเบรกให้เองโดยอัตโนมัติ เราทดลองปล่อยคันเร่งให้รถไหลเข้าสิ่งกีดขวางและไม่กดเบรก ระบบส่งเสียงเตือน ก่อนจะค่อยๆ เบรกให้อย่างนุ่มนวลจนรถหยุดนิ่ง ซูบารุบอกว่าในความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. ระบบจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ 100% หากเกินกว่านั้นอาจจะเบรกไม่พ้นแต่ก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ในระดับนึง

            อย่างไรก็ตามระบบ Pre-Collision Braking System จะทำงานเพียง 3 ครั้งเท่านั้นต่อการสตาร์ทเครื่องยนต์ 1 ครั้ง ต้องดับเครื่องแล้วสตาร์ทใหม่เพื่อเป็นการรีเซ็ตระบบ ที่เป็นแบบนี้ซูบารุให้เหตุผลว่า ผู้ขับที่ปล่อยให้ระบบเบรกทำงานถึง 3 ครั้งหมายถึงผู้ขับคนนั้นไม่มีความพร้อมในการขับรถ ประมาณว่าควรนอนพักเถอะ ซึ่งตามปกติแล้วคงไม่มีใครปล่อยให้เกิดเหตุฉุกเฉินถึง 3 ครั้งอยู่แล้ว

            สำหรับระบบที่เหลือแม้จะไม่ได้ทดสอบแต่เราจะอธิบายรายละเอียดให้ฟัง ระบบเตือนการออกนอกเลนและเตือนเมื่อรถส่าย Lane Sway and Departure Warning ก็เหมือนกับระบบของรถอื่นๆ ทั่วไป หากกล้อง Eyesight ตรวจจับได้ว่ารถกำลังส่ายไปมาหรือถลำออกนอกเลน ระบบจะส่งเสียงและไฟสัญญาณเตือนเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นมีแรงสั่นที่พวงมาลัยหรือดึงพวงมาลัยกลับเข้าเลนให้โดยอัตโนมัติ

            ส่วนระบบ Pre-Collision Throttle Management ก็คือระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ไม่ให้ออกตัว เมื่อกล้อง Eyesight ตรวจจับได้ว่ามีวัตถุหรือกำแพงอยู่หน้ารถ แต่ผู้ขับเข้าเกียร์ D และเหยียบคันเร่งเดินหน้า ระบบจะส่งเสียงและไฟสัญญาณเตือนกระพริบที่หน้าจอ พร้อมกับตัดกำลังเครื่องยนต์ไม่ให้ออกตัวเพื่อลดการชนด้านหน้า

            อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี Eyesight ก็มีข้อจำกัดบางอย่างคือมันจะมองไม่เห็นวัตถุที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตรหากวัตุนั้นอยู่ใกล้หน้ารถ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังจะออกตัวแล้วมีสุนัขยืนอยู่ติดกันชนหน้ารถ กล้อง Eyesight จะมองไม่เห็นเพราะตรงนั้นเป็นมุมอับ และรถอาจจะไม่เตือนใดๆ เลย แต่ถ้าสุนัขตัวนั้นยืนอยู่ไกลออกไป กล้องตรวจเจอแน่นอน

            นอกจากเทคโนโลยี Eyesight แล้ว Forester 2.0 i-S Eyesight ยังมีฟังก์ชั่นความปลอดภัยอีกหลายรายการที่เพิ่มเข้ามา อาทิ จอแสดงมุมมองภาพด้านข้าง ระบบเตือนมุมอับสายตา และเซ็นเซอร์เตือนขณะถอยหลัง ซึ่งอุปกรณ์ที่อัพเกรดขึ้นมาจากรุ่น 2.0 i-S ถือว่าตอบโจทย์มากๆ กับผู้ที่ต้องการรถยนต์ที่มีความปลอดภัยสูง

จัดหนักในสเตชั่น

            หลังจากจบการทดสอบเทคโนโลยี Eyesight แล้ว ต่อไปคือการทดสอบสมรรถนะของ Forester อย่างเต็มรูปแบบ ขุมพลังที่ประจำการอยู่ใต้ฝากระโปรงคือเครื่องเบนซิน Boxer 4 สูบนอน ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที จับคู่เกียร์อัตโนมัติ CVT ขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร อีกหนึ่งความโดดเด่นก็คือ Subaru Global Platform ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการขับได้อย่างเห็นผล

            เริ่มต้นในภาคที่สองด้วยการทดสอบอัตราเร่ง เข้าเกียร์ D เหยียบคันเร่งจนสุด Forester พุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างนุ่มนวล เกียร์ CVT ลากรอบเครื่องสูงพร้อมกับความเร็วที่ค่อยๆ ไต่ละดับขึ้น อัตราเร่งและแรงดึงของรถไม่ได้หนักหน่วงมาก ยังคงยืนพื้นที่ความนุ่มนวลเป็นหลัก ด้วยระยะทางที่ไม่ยาวมากเราจึงยังเหยียบไม่ถึง 100 กม./ชม. แต่ก็ได้รู้จักนิสัยของรถพอประมาณ

            หลังจากอัดทางตรงมาก็จะเจอโค้งขวา ตรงนี้ให้ยกคันเร่งเลี้ยงไลน์เข้าโค้ง ความที่ใช้อยู่ที่ 60 กม./ชม. การตอบสนองของช่วงล่างและพวงมาลัยถือว่าดีใช้ได้เลย ออกโค้งมาจะเป็นสถานีทดสอบ Subaru Global Platform บนพื้นจะมีลูกระนาดเล็กๆ วางสลับซ้าย-ขวา ตรงนี้ให้เราขับรูดไปเลยเพื่อดูอาการของรถ ซึ่ง Forester สามารถดูดซับแรงสะเทือนได้ดีมาก ด้วยความเร็วประมาณ 30 กม./ชม. รถสามารถรูดผ่านไปได้โดยไม่สะเทือนมากนัก พวงมาลัยนิ่ง ตัวถังนิ่งไม่โยกไป-มา นี่คือจุดเด่นของ Subaru Global Platform ที่ซูบารุเคลมว่าดูดซับแรงสะเทือนได้มากกว่า Forester รุ่นก่อนหน้าถึง 40% และลดกรสั่นโคลงได้มากกว่า 50%

            ออกจากสถานีทดสอบ Subaru Global Platform จะเจอโค้งขวาแล้วก็เป็นทางตรงยาว ตรงนี้เราเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นมาที่ 70-80 กม./ชม. เมื่อมาถึงเส้นก็กระทืบแป้นเบรกจนสุดเพื่อให้ ABS ทำงาน จากความเร็วระดับนั้นระยะเบรกที่เกิดขึ้นค่อนข้างสั้น ขณะเบรกตัวรถก็ก็นิ่ง ไม่ส่าย ท้ายไม่สะบัด ไม่เสียการควบคุม ทำให้มั่นใจได้เลยว่าเมื่อเจอสถานการณ์คับขันเบรกของ Forester เอาอยู่แน่นอน

            ต่อจากสถานีทดสอบ ABS จะเจอโค้งขวาและซ้ายอีก 3 โค้ง เลี้ยงความเร็วไว้ที่ 60-80 กม./ชม. ด้วยความที่ Forester มีระบบ Active Torque Vectoring หรือระบบกระจายแรงบิดขณะเข้าโค้ง การเข้าโค้งต่างๆ ให้ความรู้สึกมั่นใจ มีอาการอันเดอร์สเตียร์นิดๆ ตามปกติของรถขับสี่แต่ก็ยังมีการยึดเกาะที่ดีในทุกโค้งแม้จะเป็นรถยกสูง อาการโยรที่ความเร็วระดับนี้ไม่มากจนเกินไป หน้ารถตอบสนองกับการหักพวงมาลัยอย่างแม่นยำ โดยรวมถือว่าเป็นรถที่มี Handling ดีมากๆ คันนึงเลย

            ต่อมาเป็นการขับวนเป็นวงกลมบนพื้นผิวเปียกโดยใช้ความเร็ว 30-40 กม./ชม. เพื่อทดสอบการยึดเกาะและการตอบสนองของช่วงล่าง Forester ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ระบบช่วยต่างๆ ร่วมกันทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้รถลื่นไถล ซึ่งตรงนี้เราไม่พบอาการท้ายปัดเลย รถอยู่ในการควบคุมและยึดเกาะพื้นถนนได้ดี หากหน้าดื้อก็ยกคันเร่งเล็กน้อยจะช่วยให้บังคับพวงมาลัยได้ง่ายขึ้น

            ต่อมาเป็นการทดสอบ Lane Change เปลี่ยนเลนกะทันหันที่ความเร็ว 60 กม./ชม. Forester ยังคงตอบสนองได้ดีแม้ว่าพวงมาลัยจะไม่ไวและคมเท่าพวกรถสปอร์ตแต่ที่ความเร็วนี้ก็สามารถเอาตัวรอดได้โดยไม่เสียการควบคุม

           ปิดท้ายการทดสอบด้วยสถานี Slalom ขับซิกแซกซ้าย-ขวาดูการตอบสนองของพวงมาลัยและช่วงล่าง ด้วยจุดเด่นของเครื่องยนต์ Boxer สูบนอนที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ประกอบกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร และระบบ Active Torque Vectoring ทำให้การขับรถยกสูงอย่าง Forester ซิกแซกหลบสิ่งกิ่งขวางทำได้อย่างไม่ยากเย็น มันเป็นรถที่ควบคุมง่าย เฉียบคม อาการโยนมีไม่มาก ช่วงล่างตอบสนองดี ทั้งหมดนี้คือความมั่นใจที่จะช่วยให้การขับขี่จริงบนท้องถนนมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

สรุปความน่าใช้

            หลังจากที่ลองขับทั้ง On Road และ On Track แล้ว เห็นได้ชัดเลยว่าจุดเด่นทั้ง 4 อย่างของ Forester เจนเนอเรชั่นล่าสุดที่ประกอบด้วย เทคโนโลยีช่วยขับขี่ Eyesight, เครื่องยนต์ Boxer สูบนอน, Subaru Global Platform และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร ทำให้เอสยูวีคันนี้โดดเด่นกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันมากแค่ไหน เรื่องความปลอดภัยซูบารุถือเป็นผู้นำอยู่แล้วด้วยเทคโนโลยี Eyesight ที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้จริง ขณะที่เรื่องการขับขี่ก็ต้องยอมรับเลยว่าทำได้ดีทั้งการยึดเกาะบนพื้นเปียก การรองรับแรงสั่นสะเทือนที่เราประทับใจมาก การบังคับควบคุมขณะเข้าโค้ง รวมถึงประสิทธิภาพการเบรก นี่คือเอสยูวีที่ดีเยี่ยมรอบด้าน หากคุณต้องการรถที่ตอบโจทย์ทั้งการขับขี่ที่ดีและระบบความปลอดภัยที่ครบครัน Forester 2.0 i-S Eyesight นี่แหละที่คุณควรมองหา

ราคารวมอุปกรณ์เสริม

ดูสเปก Subaru Forester ได้ที่ http://bit.ly/2FZbguL

อ่าน First Drive Subaru Forester ได้ที่ http://bit.ly/2I6RhJz

ขอขอบคุณ บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับกิจกรรมทดสอบในครั้งนี้

Gallery

 

 

Exit mobile version