พิสูจน์จริง! ขับขึ้นจุดสูงสุดในประเทศไทยกับ Nissan Leaf ชาร์จไฟหนึ่งครั้งยังเหลือ

           Nissan Leaf ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ด้วยการพิชิตยอดดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ภายใต้การชาร์จไฟฟ้าเพียงหนึ่งครั้ง

            นิสสัน ประเทศไทย พาสื่อมวลชนมาร่วมทดสอบ Nissan Leaf ในระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร เริ่มต้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ ขับขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร จากนั้นเดินทางกลับสู่ที่พัก ซึ่งการทดสอบขับครั้งนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จเพียงเต็มครั้งเดียวเท่านั้น

            Nissan Leaf เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หัวใจหลักของรถระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (e-powertrain) ซึ่งประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่มอบพละกำลังสูงสุด 110kW หรือ 150 แรงม้า ที่ 3, 283~9,795 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่ 0~3283 รอบต่อนาที และแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนความจุ 40kWh  มอบอัตราเร่งที่ยอดเยี่ยม เร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 7.9 วินาที 

            ระยะทางขับขี่อย่างเป็นทางการของ Leaf คือ 311 กม. แต่นั่นเป็นเพียงตัวเลขในห้องทดสอบ ระยะทางขับขี่จริงขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทางที่ขับและอุณหภูมิแวดล้อม ดังนั้นไปดูกันว่าการขับขึ้นดอยอินทนนท์ในครั้งนี้ Leaf จะให้ผลลัพธ์อย่างไร

           เริ่มต้นจากตัวจากตัวเมืองเชียงใหม่ การจราจรที่นี่พลุกพล่านไม่ต่างจากกรุงเทพ การขับขี่จึงต้องความระมัดระวังกันพอสมควร การเป็นรถไฟฟ้า 100% ทำให้ Nissan Leaf เคลื่อนที่อย่างนุ่มนวลไร้ซึ่งมลพิษและเสียงจากเครื่องจากเครื่องยนต์ ที่ความเร็วต่ำรถมีความคล่องตัวจากขนาดที่กะทัดรัดและการบังคับควบคุมที่ปรับเซ็ตมาเน้นความเบาสบายเป็นหลัก ดังนั้นการซอกแซกตามตรอกซอกซอย การเปลี่ยนเลน การเร่งแซง รวมถึงการออกตัวจากแยกไฟแดงจึงทำได้อย่างกระฉับกระเฉง มอเตอร์ไฟฟ้าตอบสนองต่อการกดคันเร่งได้รวกเร็วทันใจ 

            ระบบกันสะเทือนยังทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วยซับแรงสะเทือนไม่ให้ขึ้นมาที่ห้องโดยสารได้ดีตามมาตรฐานรถแฮทช์แบ็กขนาดเล็ก เจออุปสรรคอย่างพวกฝาท่อ รอยปะ เส้นจราจร รถก็สามารถดูดซับการสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพวกเสียงตึงตังของช่วงล่างก็ออกแนวแน่นๆ ไม่ดังโครมครามจนเกินงาม

           พอออกนอกเมืองก็ได้มีโอกาสใช้ความเร็วสูงซึ่ง Nissan Leaf ก็มอบความมั่นใจด้วยช่วงล่างที่หนึบแน่นและเกาะถนน รถนิ่งสนิทไม่มีอากาศโคลงเคลง จังหวะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงก็เป็นไปอย่างแนบเนียนจากการออกแบบให้ตัวรถให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ มันจึงควบคุมง่าย ไม่โยน ไม่ย้วย พวงมาลัยก็มีความหนืดเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจในการควบคุมรถที่ความเร็วสูงได้ดียิ่งขึ้น 

            ความยอดเยี่ยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคือการฟื้นฟูพลังงานขณะเบรกและชะลอความเร็ว หรือที่เรียกว่า Regenerative braking system ระบบฟื้นฟูพลังงานนี้จะช่วยเพิ่มระยะทางในการขับขี่เมื่อชะลอความเร็ว โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนพลังงานที่สูญเสียจากการเบรกกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าชาร์จกลับเข้าไปที่แบตเตอรี่ การขับทางราบอาจไม่เห็นผลมากสักเท่าไร แต่จะเห็นผลชัดขึ้นเมื่อขับลงทางลาดชัน

          เส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์มีโค้งมากมายและมีความสูง-ต่ำต่างกัน มีความแตกต่างด้านภูมิประเทศและมีความลาดชันค่อนข้างมาก เส้นทางเป็นถนนลาดยางที่เรียบแต่ไม่ได้ขับง่าย กำลัง 150 แรงม้าพร้อมกับแรงบิด 320 นิวตันเมตรจากมอเตอร์ไฟฟ้าของ Nissan Leaf ให้อัตราเร่งอย่างน่าทึ่ง มีพละกำลังเหลือล้นแม้นบนเส้นทางที่คดเคี้ยวสูงชัน ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่นและไร้มลพิษ อีกทั้งยังไม่ต้องพะวงกับการเชนจ์เกียร์ขึ้น-ลงเพราะรถจะทำการปรับการส่งกำลังให้โดยอัตโนมัติ ช่วงไหนชันมากๆ ก็แค่เพิ่มน้ำหนักเหยียบคันเร่ง รถจะไต่ขึ้นได้แบบสบายๆ

          จากจุดเริ่มต้นในตัวเมืองเชียงใหม่ขับมาถึงยอดดอยอินทนนท์ แบตเตอรี่ของ Nissan Leaf แจ้งว่าเหลือปริมาณไฟอยู่ 18% ขับได้อีกราว 30 กม. ที่ปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลดลงมาเยอะเป็นเพราะการขับขึ้นทางลาดชันนั้นใช้กำลังไฟในการปั่นมอเตอร์ขับเคลื่อนมากกว่าขับทางราบปกติ ในกรณีนี้ถ้าเป็นรถน้ำมันคงลนลานอยู่ไม่สุขเพราะน้ำมันใกล้หมดบนยอดดอยสูงแต่สำหรับ Leaf แล้วไม่ต้องกังวลไปเพราะมีโหมด B ที่จะเป็นการปรับการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าคล้ายๆ กับการสร้างเอนจิ้นเบรก ทำให้รถจะหน่วงมากขึ้น มีประโยชน์มากในการช่วยชะลอความเร็วขณลงทางลาดชัน ช่วยลดการใช้เบรก แถมยังช่วยฟื้นฟูพลังงานได้มากยิ่งขึ้นเมื่อชะลอความเร็ว

         ขากลับขับลงจากยอดดอยอินทนนท์ Nissan Leaf สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้ากลับคืนได้สูงสุดถึงกว่า 20% โหมด B ช่วยให้กำลังไฟถูกชาร์จเข้าแบตเตอรี่เร็วขึ้น เมื่อลงมาถึงตีนดอยระดับไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 40% เหลือเป็นระยะขับขี่ทางราว 120 กม. ซึ่งเพียงเพียงพอสำหรับขับกลับเข้าเมืองเชียงใหม่โดยไม่ต้องแวะชาร์จไฟเพิ่ม ถึงที่พักในตัวเมืองเชียงใหม่ระดับไฟในแบตเตอรี่เหลือ 17% ทั้งนี้ความสามารถในการสร้างพลังงานไฟฟ้ากลับคืนจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับขี่และความลาดชันของเส้นทางเป็นตัวแปรสำคัญ

          ตลอดการขับขี่เราได้ทดลองใช้เทคโนโลยีคันเร่งอัจฉริยะ e-Pedal ซึ่งมันช่วยให้ผู้ขับขี่เร่งความเร็ว ชะลอความเร็ว และหยุดนิ่งด้วยการใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียวซึ่งสะดวกมากทั้งการขับขี่ทางราบและทางลาดชัน ด้วยอัตราการชะลอความเร็วที่สูงถึง 0.2G เพียงยกเท้าออกจากคันเร่ง ตัวรถจะลดความเร็วจนหยุดนิ่งได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่จำเป็นต้องแตะแป้นเบรก มันช่วยลดความเมื่อยล้าได้จริงเมื่อขับนานๆ 

          ความยอดเยี่ยมของ Nissan Leaf อีกประการก็คือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูงที่ติดตั้งมาในรถคันนี้ ประกอบด้วย เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (FCW) เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (FEB) กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (IAVM) พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (MOD) เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (ATC) และเทคโนโลยีช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (DAA) ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ทุกครั้งเมื่อออกเดินทาง

         สำหรับความสามารถในการชาร์จของ Nissan Leaf การชาร์จจากไฟบ้านปกติโดยใช้เคเบิลอเนกประสงค์ (EVSE cable) ที่มาพร้อมกับรถใช้เวลาประมาณ 12-16 ชม. การชาร์จจากเครื่องชาร์จไฟฟ้า หรือ wall box charging ใช้เวลา 6-8 ชม. การชาร์จแบบด่วนหรือ Quick Charge ใช้เวลา 40-60 นาทีเพื่อชาร์จให้แบตเตอรี่มีความจุ 80% 

            Nissan Leaf พิสูจน์ให้เห็นถึงสมรรถนะภายใต้สภาวะที่ท้าทายที่สุดบนภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ต่อไปนี้ไม่ต้องกังวลว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะขึ้นดอยไม่ไหว ขาลงดอยยังชาร์จไฟไปพร้อมกันอีก เพิ่มระยะทางขับขี่ได้อีกพอสมควร เพียงเท่านี้ Nissan Leaf ก็พร้อมกับการเดินทางท่องเที่ยวทางภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว

ขอขอบคุณ นิสสัน ประเทศไทย สำหรับกิจกรรมทดสอบในครั้งนี้

ดูรายละเอียดของ Nissan Leaf ได้ที่ www.nissan.co.th 

Gallery

Exit mobile version