ชั่วโมงนี้หากพูดถึงรถยนต์นั่งขนาดเล็กคงไม่มีใครร้อนแรงไปกว่า Mazda2 ที่ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในด้านยอดขายมาต่อเนื่องยาวนาน ช่วงที่ผ่านมาค่ายคู่แข่งต่างก็งัดทีเด็ดมาต่อสู้แต่มาสด้าเองก็ไม่ยอมอยู่เฉยคลอดรุ่นปรับโฉมปี 2020 ลงมาสู้ศึก ทำให้ตลาดรถเล็กในบ้านเรามีความดุเดือดแบบไม่มีใครยอมใคร มาสด้าปิดจ๊อบงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ผ่านมาเกือบ 4 พันคันโดยรถที่ขายได้มากที่สุดก็คือเจ้า Mazda2 ใหม่นี่แหละ แม้กระแสของ City โฉมใหม่กำลังร้อนแรงแต่กระแสของ Mazda2 ก็ไม่ได้มอดลงไปเลย
หลังจบมอเตอร์เอ็กซ์โปมาสด้าร่อนจดหมายเชิญ WHATCAR? Thailand ไปทดสอบ Mazda2 ใหม่ ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ไม่ได้จัดให้ขับแบบธรรมดาเหมือนเคย แต่พาไปหวดในสนามช้างฯ จ.บุรีรัมย์ เพื่อสัมผัสระบบ G-Vectoring Control Plus (GVC Plus) กันอย่างเต็มที่ เราเชื่อว่า Mazda2 เป็นรถเล็กที่เด่นในเรื่องสมรรถนะและการควบคุมเป็นอันดับต้นๆ ของคลาส การเพิ่มระบบ GVC Plus เข้ามาน่าจะช่วยให้ขับสนุกและมั่นใจยิ่งขึ้น ดังนั้นวันนี้เราจะหาคำตอบว่ามันเป็นไปตามที่เราคิดไว้หรือไม่
Mazda2 ใหม่ยังมี 2 เครื่องยนต์เหมือนเดิมคือ เบนซิน 1.3 ลิตร 93 แรงม้า และดีเซล 1.5 ลิตร 105 แรงม้า ซึ่งในวันนี้เราจะได้ลองทั้ง 2 เครื่องยนต์ ส่วนการทดสอบจะแบ่งออกเป็น 3 สถานี ได้แก่ Performance ทดสอบสมรรถนะ, Handling / Brake / GVC Plus ทดสอบการบังคับควบคุม และขับเต็มรอบสนาม Full Lap รถที่ใช้ทดสอบมี 3 รุ่น ประกอบด้วย XDL ตัวท็อปดีเซล, 1.3 SP ตัวท็อปเบนซิน และ 1.3 S Sport ตัวรองท็อปเบนซิน มีทั้งตัวถังซีดานและแฮทช์แบ็ก
พระเอกใหม่ GVC Plus
แม้ว่า Mazda2 ใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ จุด แต่สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าเป็นพระเอกเลยก็คือระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่ G-Vectoring Control Plus หรือเรียกย่อว่า GVC Plus ระบบนี้ถูกแนะนำเป็นครั้งแรกพร้อมติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานใน All-New Mazda 3 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบ GVC เดิมด้วยการใช้เบรกเข้ามาจำกัดและควบคุมรถเพิ่มเติมจากเวอร์ชั่นแรกที่ใช้การตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์เท่านั้น
การทำงานของระบบ GVC Plus เริ่มจากขณะรถเริ่มเข้าโค้งเครื่องยนต์จะลดแรงบิดเล็กน้อยให้เหมาะสมกับลักษณะของโค้ง ทำให้น้ำหนักของตัวรถถ่ายมายังล้อหน้าซึ่งเป็นล้อที่ใช้ในการควบคุมรถ ส่งผลให้ล้อหน้ายึดเกาะถนนมากขึ้น เข้าโค้งได้สมดุลและแม่นยำขึ้น ขณะอยู่ในโค้งระบบจะคืนแรงบิดให้กลับสู่ปกติเพื่อควบคุมการถ่ายน้ำหนักให้สมดุลทั้งหน้าและหลัง ส่งผลให้การแก้พวงมาลัยในโค้งเกิดขึ้นน้อยที่สุด และขณะออกจากโค้งระบบจะตรวจการหมุนพวงมาลัยเพื่อคำนวณการเบรกเพียงเล็กน้อยที่ล้อฝั่งนอกโค้งซึ่งจะช่วยให้รถเข้าทางตรงง่ายมากขึ้น
การอัพเกรดเป็น GVC Plus เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แน่นอนว่าการขับขี่บนถนนปกตินั้นไม่สามารถทดสอบระบบนี้ได้เลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มาสด้าพาเรามาเยือนสนามช้างฯ ในวันนี้เพื่อทำความเข้าใจระบบอย่างลึกซึ้งพร้อมกับลองขับจริง ซึ่งมันไม่เพียงแต่เหมาะสมกับในสนามเท่านั้น การขับขี่ในชีวิตประจำวันระบบ GVC Plus ยังช่วยในเรื่องความมั่นใจและเพิ่มความปลอดภัยได้อีกด้วย
อัตราเร่งดี เข้าโค้งเยี่ยม
เริ่มต้นทดสอบด้วยสถานี Performance กับ Mazda2 XDL Sport เครื่องยนต์ดีเซล สถานีนี้เป็นการทดสอบระบบ GVC Plus พร้อมกับทดสอบอัตราเร่ง เริ่มด้วยการกดคันเร่งไปให้ถึง 80 กม./ชม. แล้วหักเข้ากรวยซ้าย-ขวาแบบ Lane Change โดยไม่เหยียบคันเร่ง ต่อด้วยโค้งตัว U แล้วก็ Lane Change อีกรอบโดยเหยียบคันเร่งประคองไว้ แล้วดูความแตกต่าง
ทันทีที่กดคันเร่ง Mazda2 XDL Sport พุ่งออกตัวอย่างนิ่มนวลพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์ที่สุภาพเรียบร้อยและไม่สั่นสะท้าน เกียร์ถูดเซ็ตอัตราทดอย่างเหมาะสมและส่งต่อกำลังได้นุ่มนวล ในเกียร์ 1 รอบเครื่องดีดขึ้นสูงไปถึงราว 3,000 รอบ ก่อนจะตัดลงเกียร์ 2 โดยไร้ซึ่งอาการกระตุก ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. จังหวะหักเข้ากรวยซ้าย-ขวาแบบ Lane Change เห็นได้ชัดว่ารถมีอากาศท้ายออกเล็กน้อย
เมื่อผ่านโค้งตัว U เราลองอีกรอบ กดคันเร่งไปที่ 80 กม./ชม. หักเข้ากรวย Lane Change รอบนี้เหยียบคันเร่งประคองไปด้วย สิ่งที่แตกต่างไปคืออาการท้ายออกลดลง ตัวรถเหวี่ยงน้อยลง คุมพวงมาลัยได้ไวขึ้น หน้ารถตอบสนองต่อการหักเลี้ยวไวขึ้น นี่คือผลลัพธ์จากการทำงานของระบบ GVC Plus สรุปง่ายๆ คือระบบ GVC Plus จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเมื่อเหยียบคันเร่งประคองไปด้วยขณะเข้าโค้งหรือหักพวงมาลัยนั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่าเข้าโค้งปกติแบบปล่อยคันเร่งแล้วจะแย่นะ คือเดิมๆ Mazda2 ก็เป็นรถที่มีการควบคุมดีมากๆ อยู่แล้ว ถ้าเป็นรถรุ่นอื่นขับทดสอบแบบเดียวกันท้ายอาจจะปัดออกไปมากกว่านี้ก็ได้ การทดสอบสถานีนี้แค่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างว่า GVC Plus ช่วยเสริมให้การควบคุมดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน
สถานีที่ 2 เป็นการทดสอบแฮนด์ลิ่งของรถในโค้งต่างๆ ตาม Racing Line ที่วางกรวยไว้ เป็นการขับเข้าโค้งต่อเนื่องในโค้งที่ 7-11 ของสนามช้างฯ รอบนี้เราเปลี่ยนมาขับรุ่นเบนซิน 1.3 SP Sport สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคืออัตราเร่งที่ด้อยกว่ารุ่นดีเซลจากกำลังและแรงบิดที่น้อยกว่า รวมถึงน้ำหนักของตัวรถที่เบากว่าแบบรู้สึกได้ เราได้ขับ 2 รอบ เปรียบเทียบความต่างระหว่างการเหยียบคันเร่งประคองขณะเข้าโค้งและไม่เหยียบ
รอบแรกใช้ความเร็ว 70 กม./ชม. เข้าโค้งโดยไม่เหยียบคันเร่งประคอง สิ่งที่ขึ้นคือแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ของตัวรถจะเยอะ มีอาการหน้าดื้อและท้ายออกนิดๆ ถ้าขืนไปต่อโดยไม่ลดความเร็วจะยิ่งคุมยาก รอบที่สองขับไลน์เดิมความเร็วเท่าเดิมโดยเยียบคันเร่งช่วยประคอง ระบบ GVC Plus เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเบรกที่ล้อด้านนอกโค้ง ผลที่ได้คือสามารถควบคุมพวงมาลัยได้ง่ายขึ้น แรงเหวี่ยงลดลง อาการหน้าดื้อลดลง อาการท้ายออกก็ลดลงตามไปด้วย มาสด้าอธิบายว่า GVC Plus จะเข้ามาช่วยเบรกในระหว่างที่เราเข้าโค้งเพื่อให้เกิดการถ่ายน้ำหนักจากด้านหลังมาด้านหน้า เพิ่มแรงกดในล้อบังคับทิศทางมากที่สุด ทำให้ผู้ขับสามารถเข้าโค้งได้ง่ายและออกโค้งได้เร็วขึ้น
ต่อเนื่องด้วยสถานีที่ 3 เป็นการขับรอบสนามช้างฯ เต็มรอบ สถานีนี้เป็นการทดสอบอัตราเร่งและระบบ GVC Plus กันแบบเต็มๆ ในความเร็วระดับการแข่งขัน โดยจะได้ขับรุ่นดีเซล 2 รอบ และเบนซิน 2 รอบ เริ่มต้นด้วยรุ่นดีเซล XDL Sport ตัวถังแฮทช์แบ็ก ซึ่งให้อัตราเร่งที่สนุกสนาน ดึงดีตั้งช่วงรอบต่ำ แต่ยังยืนพื้นบนความนุ่มนวล ช่วงทางตรงยาวสามารถกดได้ถึง 160 กม./ชม. ก่อนที่จะลดความเร็วมาอยู่ที่ราว 80 กม./ชม. แล้วทำการเข้าโค้งโดยเหยียบคันเร่งประคองให้ระบบ GVC Plus ทำงานไปด้วย รถเข้าโค้งได้อย่างเนียน ควบคุมให้อยู่ในไลน์ได้ไม่ยาก และออกโค้งได้ว่องไว
จบ 2 รอบก็สลับมาเป็นรุ่นเบนซิน 1.3 SP Sport ตัวถังแฮทช์แบ็ก อัตราเร่งต่างกันลิบลับ แรงดึงน้อยกว่า แต่ยังคงนุ่มนวลเหมือนกัน เราใช้เทคนิคเดียวกันในการเข้าโค้งผลที่ได้คือเบนซินดูคุมง่ายกว่านิดๆ แรงเหวี่ยงขณะเข้าโค้งมีน้อยกว่า อาการหน้าดือและท้ายออกก็มีน้อยกว่ารุ่นดีเซลเช่นกัน ทั้งนี้น่าจะมากจากน้ำหนักตัวรถที่เบากว่า ความยอดเยี่ยมของระบบ GVC Plus ช่วยให้เข้าโค้งได้อย่างสนุก มั่นใจ และทำเวลาได้ดี
จบ 3 สถานีพร้อมกับความสุข Mazda2 เป็นรถเล็กที่เราคิดว่าขับดีที่สุดในคลาสแล้วโดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในเรื่องการเข้าโค้งที่มาสด้านำแนวคิดจากการแข่งขันมาวิจัยและพัฒนาออกมาเป็นระบบ GVC Plus แล้วติดตั้งในรถบ้าน ผลที่ได้คือความสนุกบนพื้นฐานความปลอดภัย เพิ่มอารมณ์การขับขี่ พร้อมตอบสนองนักขับทุกเพศทุกวัย ขับอย่างมั่นใจและไร้กังวลมากขึ้น
สรุปความน่าใช้
Mazda2 ใหม่ปรับหน้าตาภายนอกและภายในหลายส่วน แน่นอนว่ามันน่าใช้ขึ้น และมีสีตัวถังใหม่อย่าง Polymetal Gray Metallic เอาใจคนชอบความโดดเด่น (เฉพาะตัวถังแฮทช์แบ็ก) แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่ที่ชื่อว่า G-Vectoring Control Plus เจ้าตัวนี้แหละที่ยกระดับการขับขี่ของ Mazda2 ให้นำหน้าคู่แข่งขึ้นไปอีกขั้น แม้จะเครื่องยนต์เดิม ช่วงล่างเดิม แต่มันขับสนุกขึ้น มั่นใจขึ้น ปลอดภัยขึ้น ถ้าคุณขอบการขับรถ ชอบรถขนาดเล็กที่มีแฮนด์ลิ่งดีๆ หรือรู้สึกสนุกเมื่อกำลังโลดแล่นในโค้ง Mazda2 ใหม่นี่แหละคือเพื่อนเดินทางที่จะสร้างรอยยิ้มให้กับคุณได้ทุกครั้งที่หมุนพวงมาลัย
ขอขอบคุณ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย สำหรับกิจกรรมทดสอบในครั้งนี้
ดูรายละเอียดสเปก New Mazda2 ได้ที่ http://bit.ly/37NY6uv
ราคาจำหน่าย New Mazda 2 เครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร Skyactiv-G
- รุ่น 1.3 E ราคา 546,000 บาท
- รุ่น 1.3 C ราคา 602,000 บาท
- รุ่น 1.3 S ราคา 627,000 บาท
- รุ่น 1.3 S LEATHER ราคา 648,000 บาท
- รุ่น 1.3 SP ราคา 690,000 บาท
ราคาจำหน่าย New Mazda 2 เครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตร Skyactiv-D
- รุ่น XD ราคา 782,000 บาท
- รุ่น XDL ราคา 799,000 บาท
Gallery