First Drive – Ford Ranger Wildtrak 4×4 2.0L Bi-Turbo แกร่งรอบด้าน…สมคำล่ำลือ

            เทรนด์การ Downsize เครื่องยนต์กำลังได้รับความนิยมในหมู่ค่ายรถยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน นับเป็นความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่พลังและประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ไม่ได้กำหนดอยู่ที่ปริมาตรกระบอกสูบเพียงอย่างเดียว เมื่อก่อนหากพูดว่าเครื่องเล็กซีซีน้อยแรงกว่าเครื่องใหญ่ซีซีมากได้คงน่าขำ แต่ปัจจุบันมันเป็นไปแล้ว

            ฟอร์ดเป็นค่ายหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการ Downsize เครื่องยนต์และนำมาปรับใช้กับรถยนต์ของตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้นไม่เพียงแต่พละกำลังที่เพิ่มขึ้น ความประหยัดและปล่อยมลพิษน้อยลงคืออานิสงส์ของการปรับลดปริมาตรเครื่องยนต์เป็นเงาตามตัว ดังเห็นได้จากเครื่องยนต์ Ecoboost ทั้งใน Focus หรือ Mustang ที่แม้ว่าจะมีปริมาตรความจุน้อยแต่ก็ยังให้พละกำลังได้อย่างไม่เป็นรองเครื่องยนต์บล็อกใหญ่

            เมื่อพูดถึงกระบะ Ranger เมื่อก่อนถ้ามองในมุมความแรงและพลังอันมหาศาล เครื่อง 3.2 Duratorq ดูจะเป็นที่สุดแห่งวงการโดยไม่มีใครค้าน แต่มันก็ดูจะเกินจำเป็นสำหรับผู้ใช้รถทั่วไป ฟอร์ดรู้ถึงข้อจำกัดนี้และได้ทำการแก้เกมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการแก้เกมที่น่าสนใจซะด้วยโดยการแนะนำเครื่องยนต์ใหม่ 2.0 ลิตร Bi-Turbo พ่วงด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีดลูกใหม่ ติดตั้งลงไปใน Ranger สาวกที่เห็นน่าจะตาลุกวาวเพราะเครื่องและเกียร์ชุดนี้ยกมาจาก Ranger Raptor ทั้งดุ้น ความแกร่งและความแรงมันพิสูจน์มาหมดแล้ว และน่าจะโดนใจกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ไม่น้อย

            หลังจากการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ฟอร์ดไม่รอช้ารีบจัดทริปทดสอบ Ranger ใหม่โดยทันทีที่ จ. เชียงราย เส้นทางมีให้ขับทุกรสชาติทั้งทางเรียบและออฟโรด รถที่ทดสอบเป็น Ranger Wildtrak 4×4 เครื่อง 2.0L Bi-Turbo 213 แรงม้า และ Ranger Limited รุ่นย่อยใหม่ที่มาพร้อมเครื่อง 2.0 Turbo 180 แรงม้า ทริปนี้เราอยู่กับเจ้าสุดหล่อ Wildtrak เต็มๆ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา สตาร์ทเครื่อง รัดเข็มขัด เข้าเกียร์ D แล้วเหยียบคันเร่งไปพร้อมกัน…

การขับขี่

            ขุมพลังใหม่ที่มาประจำการใน Ranger Wildtrak 4×4 ตามสเปกให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด เครื่องยนต์นี้เป็นการทำงานผสานกันของเทอร์โบ 2 ตัว ทำงานในรอบเครื่องยนต์ที่ต่างกันควบคุมด้วยวาล์วบายพาส ตัวแรกจะทำงานในรอบต่ำตั้งแต่สตาร์ทเครื่องจนถึง 1,500 รอบ จากนั้นจะหยุดทำงานและปล่อยเทอร์โบลูกที่ 2 ทำงานไปจนถึงราว ๆ 2,500 รอบ ถ้าลากรอบไปมากกว่านั้น เทอร์โบทั้ง 2 ลูกก็จะทำงานร่วมกันเพื่อเรียกพละกำลังของรถออกมาให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ข้อดีของการใช้เครื่องยนต์ระบบนี้ก็คือความต่อเนื่องของกำลังในทุกๆ ช่วงรอบเครื่องยนต์ และเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบลงจากการที่ไม่ต้องลากเค้นเครื่องยนต์ตลอดเวลา

            จากการขับขี่ Ranger Wildtrak ของเราให้การตอบสนองที่ดีเยี่ยมตั้งแต่ออกตัว ความรู้สึกคือรถจะค่อยๆ พุ่งทะยานขึ้นไปอย่างนุ่มนวลและต่อเนื่อง ไม่กระขากแบบหลังติดเบาะแต่ก็ไม่ได้เฉื่อยช้าจนเกินไป สามารถเร่งถึงความเร็ว 100 – 110 กม./ชม. ได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เราสัมผัสได้ถึงเรี่ยวแรงที่มีมาให้เห็นตั้งแต่ต่ำกว่า 2,000 รอบ และความต่อเนื่องของพละกำลังเครื่องยนต์ที่ได้จากการทำงานสอดประสานกันอย่างไร้ที่ติของเทอร์โบทั้ง 2 ตัว

            จำนวนเกียร์ที่มากถึง 10 สปีดทำให้จังหวะการเปลี่ยนเกียร์แทบไม่รู้สึกเพราะอัตราทดชิดกันมาก จุดนี้มอบความนุ่มนวลใกล้เคียงรถเกียร์ CVT ได้เลย เกียร์สามารถที่จะเปลี่ยนแบบข้ามเกียร์ 1-3-5-7-9 ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักการเหยียบคันเร่ง การคิ๊กดาวน์เพื่อเร่งแซงทำได้รวดเร็ว เพียงกดคันเร่งลึกขึ้นเกียร์จะชิฟท์ดาวน์ลงมา 2-3 ตำแหน่งพร้อมกับกำลังฉุดที่มาในเกือบจะทันที ทำให้การเร่งแซงเป็นไปอย่างนุ่มนวลและต่อเนื่อง กำลังมีเหลือๆ ไม่ต้องลุ้นต้องเผื่อระยะให้มากความ

            ข้อดีของเกียร์ 10 สปีดก็คือความประหยัดที่มีมากกว่ารุ่น 3.2 อย่างเห็นได้ชัดเพราะเครื่องยนต์ไม่ต้องลากรอบมากจนเกินไปกว่าจะเปลี่ยนเกียร์แต่ละเกียร์ ผลจากการไม่ลากรอบนี้ก็ทำให้เสียงเครื่องยนต์ที่เข้าสู่ห้องโดยสารมีน้อยลงด้วย

            การขับขี่บนทางเรียบไม่มีปัญหาสำหรับ Ranger Wildtrak ขับง่าย ขับสบาย วิ่งทางไกลระหว่างจังหวัดไม่เหนื่อย ขณะเดียวกันเมื่อเจอทางลาดชันก็ไม่ต่างกันเพราะพละกำลังของเครื่องยนต์มีเหลือๆ ทำให้สามารถขับขึ้นเขาได้อย่างไม่มีปัญหา ปุ่ม +/- ที่เกียร์ช่วยให้เราเลือกเกียร์ได้ด้วยตัวเองเมื่อต้องการกำลังแรงบิดสำหรับการขับขึ้นเขาหรือใช้เป็นเกียร์ต่ำขณะลงเขาเพื่อลดภาระของเบรก นอกจากนี้ผู้ขับสามารถกำหนดจำนวนเกียร์ที่ต้องการใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อขับขี่ในช่วงขึ้นเขาลงเขา เราต้องการที่จะใช้กำลังจากเครื่องยนต์จากเกียร์ต่ำ เราสามารถที่จะกำหนดจำนวนเกียร์ไว้เพียงเกียร์ 1-4 เพื่อเป็นการบังคับไม่ให้ระบบเกียร์เปลี่ยนขึ้นไปสูงเกินกว่านี้ได้ การกดยกเลิกการจำกัดจำนวนเกียร์ก็เพียงกดปุ่ม + ที่หัวเกียร์ค้างไว้ประมาณ 2 วินาที

            ช่วงล่างของ Ranger Wildtrak มีการปรับเซ็ตใหม่เน้นเพิ่มความนุ่มนวลลดความกระด้างแบบกระบะ โดยรวมนั่งแล้วรู้สึกมีความสุข การดูดซับแรงสะเทือนจากรอยปะถนน คอสะพาน รอยต่อ ผิวทางที่ไม่เรียบต่างๆ ทำได้ดีมาก ขณะเดียวกันยังให้อารมณ์หนึบแน่น เกาะถนน มั่งคง และนิ่งในทุกช่วงความเร็ว

            ทางโค้งลัดเลาไปตามเขาไม่สามารถทำอะไร Ranger Wildtrak ได้ โดยพื้นฐานรถมีความหนึบแน่นดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเข้าโค้งจึงเต็มไปด้วยความมั่นใจ อาการโยนมีบ้างประปรายตามธรรมเนียมรถยกสูงแต่ไม่มากจนน่ากลัว การทรงตัวขณะเข้าโค้งอยู่ในเกณฑ์ดี ควบคุมง่าย

            พวงมาลัยที่มีความแม่นยำและรวดเร็วทำให้การเข้าโค้งเป็นไปอย่างสนุก ควบคุมง่าย ที่ความเร็วต่ำหนืดพอประมาณ ปรับเปลี่ยนเลนได้อย่างกระฉับกระเฉง พอขึ้นความเร็วสูงก็หนืดขึ้นอย่างเหมาะสม ให้ความมั่นใจในการขับขี่ได้ดี

            ระบบเบรกยังคงให้อารมณ์นุ่มนวล ต้องกดค่อนข้างลึกหน่อยจึงจะเริ่มหน่วง แรกๆ อาจรู้สึกเบรกไม่ค่อยหนึบ แต่เมื่อขับไปสักพักจะเริ่มรู้จักและคุ้นชินกับมัน จากนั้นก็จะกะระยะเบรกได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ 

            ตลอดการขับทดสอบทั้งขับเองและเป็นผู้โดยสารนั่งเบาะหลัง เรามีความรู้สึกว่า Ranger Wildtrak ใหม่มีการป้องกันเสียงรบกวนดีขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าในระดับนึงเลย ทั้งนี้เป็นเพราะฟอร์ดได้ปรับปรุงวัสดุป้องกันเสียงรบกวนใหม่ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เราขับขี่ทางราบที่ความเร็ว 100-110 กม./ชม. เสียงภายนอกไม่เล็ดลอดเข้ามากวนใจมากนัก

            แน่นอนว่าความจุเครื่องยนต์ที่น้อยลงย่อมส่งผลต่อตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเครื่อง 3.2 ตัวเก่า จากการขับขี่เน้นการใช้งานจริง ขับทางราบผสมทางภูเขา และไม่เน้นประหยัด ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองบนหน้าปัดทำได้ราว 12 กม./ลิตร ถือว่าเหมาะสมกับขนาดตัวรถและพลังเครื่องยนต์

ไม่เกี่ยงงานออฟโรด

                Ranger Wildtrak ที่เราขับทดสอบมากพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อพร้อมระบบล็อกเฟืองท้าย เส้นทางทดสอบในครั้งนี้ฟอร์ดจัดให้มีทางออฟโรดได้ลุยกันพอหอมปากหอมคอ การเปิดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทำได้อย่างง่ายดายด้วยการบิดปุ่มไปที่ตำแหน่งที่ต้องการ 2H 4H และ 4L การใช้งานขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทางที่ต้องฟันฝ่า ในการทดสอบครั้งนี้เป็นทางออฟโรดที่ไม่โหดมาก เป็นเพียงทางดินที่เป็นลักษณะทางราบ ไม่ต้องใช้กำลังปีนป่ายอะไรมากมาย มีหลุมโคลนบ้างเล็กน้อย เราจึงใช้ 4H ในการลุย ก็สามารถขับผ่านได้อย่างสะดวกสบาย

            ช่วงล่างรับหน้าที่รองรับการกระแทกอย่างขยันขันแข็ง มอบความนุ่มนวลในห้องโดยสารได้ดี ประกอบกับระยะความสูงใต้ท้องรถ 230 มม. ทำให้ลุยได้หลากหลายพื้นผิว นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชันติดตั้งมาให้ ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายขณะคลานลงเขาได้เป็นอย่างดี

ยกระดับความสะดวกสบาย

                ภายในของ Ranger Wildtrak ใหม่ เปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนไม่มาก ห้องโดยสารมาในโทนสีดำ มีไฟสร้างบรรยากาศเพื่อความสวยงาม โดดเด่นด้วยการเดินตะเข็บสีส้มทั่วทั้งห้องโดยสารตั้งแต่เบาะหนังสีดำ พวงมาลัย แผงประตู แคชบอร์ดหน้า หัวเกียร์มีการปรับดีไซน์ใหม่เพื่อรองรับ Manaul Mode ของเกียร์ 10 สปีด

            สิ่งที่อัพเกรดเข้ามาใหม่คือระบบ SYNC 3 ที่รองรับการสั่งการภาษาไทยได้แล้ว รวมถึงการแสดงผลบนหน้าจอก็เป็นเมนูภาษาไทย นอกจากนี้ระบบยังสามารถโทรไปที่ 1669 ได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมาพร้อมกุญแจรีโมทอัจฉริยะพร้อมปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติเพื่อความสะดวก

            ระบบ SYNC 3 หน้าจอสัมผัส 8 นิ้วนี้รองรับการเชื่อมต่อครบครันทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto พร้อมบลูทูธ มีระบบแผนที่นำทาง Navigation System จากการใช้งานพบว่าระบบมีความยืดหยุ่น ลื่นไหล หน้าจอคมชัดสีสันสวยงาม หน้าตาเมนูสวย ดูง่าย ตอบสนองรวดเร็ว ระบบนำทางมีความแม่นยำและยังหาพิกัดค่อนข้างไว แถมยังนำทางเป็นเสียงภาษาไทยด้วย

            ด้วยความที่เป็นรถยกสูงทัศนวิสัยการขับขี่จึงดีเยี่ยม มองข้างหน้าได้ไกลและชัดเจน กระจกมองข้างขนาดใหญ่ทำให้มุมมองด้านข้างชัดเจนขึ้น พื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้างขวางนั่งสบายทั้งตอนหน้าและเบาะหลัง มีที่ว่างเหนือศีรษะและที่ว่างช่วงขามากพอสำหรับคนตัวสูง การขึ้นลงรถสะดวกง่ายดาย เบาะหลังตรงกลางดึงลงมาเป็นที่พักแขนและวางแก้วน้ำได้ และอำนวยความสะดวกสูงสุดด้วยระบบฝาท้ายผ่อนแรง เปิด-ปิดเบาแรงลงไปได้เยอะ

อัพเกรดความปลอดภัย

                ไฮไลท์สำคัญของ Ranger Wildtrak ใหม่ นอกจากการขับขี่ที่ดีเยี่ยมแล้วคือระบบความปลอดภัยที่เพิ่มเข้ามาใหม่ได้แก่ ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB) ระบบนี้ออกแบบมาให้ช่วยหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงการชนที่อาจจะเกิดขึ้นด้านหน้าตัวรถ สามารถตรวจจับได้ทั้งรถและคนเดินถนน ช่วยให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยที่เรดาร์จะทำการตรวจจับรถยนต์ หรือ คนเดินถนน ได้ตั้งแต่ความเร็ว 3.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยที่การตรวจจับคนจะจำกัดความเร็วในการตรวจจับได้ไม่เกิน 62 กม./ชม. ส่วนรถยนต์จะไม่มีการจำกัดความเร็วในการตรวจจับ โดยระบบจะทำการแจ้งเตือนบนหน้าปัดรถยนต์เมื่อรถยนต์ใกล้กับรถคันหน้า หรือ คนเดินถนนมากเกินไป แล้วผู้ขับขี่ยังไม่เบรก รถก็จะเบรกให้อัตโนมัติ

            อีกหนึ่งระบบคือระบบช่วยจอดอัจฉริยะ ระบบจะทำการค้นหาช่องจอดและควบคุมพวงมาลัยให้โดยอัตโนมัติ การทำงานของระบบนี้เซ็นเซอร์จะตรวจหาช่องว่างในระยะ 1.5 – 2 เมตร โดยจะค้นหาแบบเทียบข้างเท่านั้น ความเร็วในการค้นหาช่องจอดต้องไม่เกิน 30 กม./ชม. ในขณะที่เข้าจอดต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 10 กม./ชม. ในขณะที่ระบบกำลังทำงานนั้นผู้ขับมีหน้าที่ควบคุมคันเร่ง เบรก และเกียร์เอง ระบบจะค้นหาช่องจอด, หมุนพวงมาลัยให้เท่านั้น โดยระบบจะยกเลิกการทำงานเมื่อผู้ขับจับพวงมาลัย

             การทดสอบครั้งนี้ฟอร์ดจัดให้ทดลองระบบทั้งสองด้วยตัวเอง ต้องบอกเลยว่ามันเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ที่บางครั้งอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นแล้วอาจเบรกไม่ทัน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจอดรถได้จริง

            นอกจากนี้ Ranger Wildtrak ยังเพียบพร้อมด้วยระบบความปลอดภัยชั้นนำอาทิ ระบบช่วยควบคุมให้รถอยู่ในเลน ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ ระบบเตือนการชนดานหน้า ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ ตลอดจนถุงลมนิรภัย 6 จุด เรียกได้ว่าครบจริงๆ

หน้าตาปรับไม่มาก

            ภายนอกของ Ranger Wildtrak ใหม่มีการปรับเปลี่ยนไม่มาก เดิมทีหน้าตามันก็ดูหล่อเข้มดีอยู่แล้ว การไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้จึงปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ได้แก่ ปรับกระจังหน้าและกันชนหน้าดีไซน์ใหม่ เบ้าไฟตัดหมอกใหม่ เพิ่มไฟเดย์ไทม์ รันนิ่งไลท์ แบบ LED เปลี่ยนไฟตัดหมอกเป็นแบบ LED ด้านข้างและด้านท้ายรถไม่มีการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายมาพร้อมกับสีตัวถังใหม่คือสีส้มเซเบอร์ที่ปรับโทนสีให้อ่อนลงจากรุ่นก่อนหน้า

            Ranger Wildtrak ใหม่ ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Dueler H/T 684 II ขนาด 265/60 R18 พร้อมด้วยอุปกรณ์ตกแต่งเสริมหล่อภายนอกรอบคัน อาทิ บันไดข้าง แร็คหลังคา สปอร์ตบาร์ และพื้นปูกระบะ เรียกได้ว่าไม่ต้องไปเติมแต่อะไรก็หล่อครบจบในคันเดียว

สรุปความน่าใช้

            การไมเนอร์เชนจ์ของฟอร์ดในครั้งนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับ Ranger และวงการกระบะบ้านเรา จากการที่ได้ลองขับบอกเลยว่า Ranger Wildtrak 4×4 แกร่งทุกด้านสมคำล่ำลือไม่ว่าจะเป็นพลังเครื่องยนต์ การขับขี่ การควบคุม ช่วงล่าง ความสามารถในการลุยทางออฟโรด ความสะดวกสบายในห้องโดยสาร ออปชันต่างๆ ที่ให้มา รวมทั้งเทคโนโลยีความปลอดภัย เรามองว่า Ranger Wildtrak 4×4 คือตัวท็อปของตลาดแล้วตอนนี้ ราคาค่าตัว 1.265 ล้านบาทกับสิ่งที่ได้มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

            ความได้เปรียบของ Ranger ใหม่อีกประการคือมีให้เลือกหลายรุ่นย่อยแล้วแต่ความต้องการ ซึ่งรุ่น Limited ถือเป็นอีกรุ่นที่มีความน่าสนใจ ได้ออปชันลดลงมาหน่อยกับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 180 แรงม้า แต่ก็ยังคุ้มค่ากับราคา 1.029 ล้านบาท หรือถ้าต้องการความเป็นที่สุดก็ยังมี Ranger Raptor ราคา 1.699 ล้านบาท ให้เลือก

            หลายปีก่อนกระบะฟอร์ดยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ในตลาด พอเปิดตัว Ranger เจนเนอเรชันปัจจุบันยอดขายก็เริ่มขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เป็นที่ 3 ในตลาด มันพอบอกอะไรได้หลายอย่างว่า Ranger นั้นมีดีจึงเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ใช้รถชาวไทย และตอนนี้ Ranger ใหม่ที่ได้รับการปรุงแต่งมาอย่างพิถีพิถัน ก็พร้อมแล้วที่จะสานต่อความสำเร็จตามนิยาม ‘เกิดมาแกร่ง’ ให้แกร่งขึ้นไปอีกขั้น

Gallery

 

 

Exit mobile version