[First Drive] All-New Mazda 3 ลองครั้งแรกก่อนเปิดตัว กับยนตรกรรมใหม่ดีที่ขึ้นในทุกๆ ด้าน

               หลังจากนี้ไปเราเชื่อว่าตลาด C-Segment จะกลับมาลุกเป็นไฟอีกครั้งแน่นอนเพราะผู้เล่นคนสำคัญอย่าง Mazda และ Toyota กำลังจะปล่อยโมเดลใหม่หมดแบบ All-New มาร่วงวงแข่งขันหลังจากปล่อยให้ Honda Civic กวาดยอดขายนำโด่งอยู่เจ้าเดียวโดยที่ตัวเองได้แต่มองดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ

                มาสด้า ประเทศไทย แย้มออกมาแล้วว่า All-New Mazda 3 จะเปิดตัวในเมืองไทยช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งตอนนี้รายละเอียดสเปก ข้อมูล สถิติ ตัวเลขต่างๆ และราคา ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาแต่อย่างใด แต่มาสด้าก็ได้เชิญสื่อมวลชนไปทดสอบขับแบบ Sneak Preview หรือการลองขับเบื้องต้นเป็นน้ำจิ้มที่ จ.ระยอง โดย WHATCAR? ได้เป็นเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

                การขับขี่วันนี้ทำในสนามปิด ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. และยังไม่มีโค้งโหดๆ ให้ได้ลองมากนัก เป็นการขับทดสอบตามสถานีต่างๆ ที่มาสด้าเซ็ตขึ้น ดังนั้นข้อมูลในวันนี้อาจจะยังไม่ครบถ้วนกระบวนความ แต่การขับเบื้องต้นก็พอที่จะทำให้เราได้รู้จักนิสัยใจของของ Mazda 3 ใหม่ได้พอสมควร ไปดูกันเลยดีกว่าว่ารถใหม่จากค่าย Zoom-Zoom คันนี้มีดีอย่างไรบ้าง

งานออกแบบระดับมาสเตอร์พีซ

                Mazda 3 ใหม่ มี 2 ตัวถังเหมือนเดิมคือซีดานและแฮทช์แบ็ก เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่งาน LA Motor Show 2018 เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว มิติตัวรถโดยรวมมองเผินๆ ใกล้เคียงกับรุ่นปัจจุบัน โดยรุ่นซีดานมีความยาว 4,660 มม. กว้าง 1,795 มม. สูง 1,440 มม. ส่วนรุ่นแฮทช์แบ็คมีความยาว 4,460มม. กว้าง 1,795 มม. สูง 1,435 มม. ทั้งสองรุ่นมีมีระยะฐานล้อยาวเท่ากันที่ 2,725 มม. ระยะต่ำสุดของรถถึงพื้น 135 มม. ระยะความกว้างของล้อคู่หน้า/หลังอยู่ที่ 1,570 / 1,580 มม. ขนาดล้อในตัวท็อป เป็น 215/45 R18 เท่ารุ่นปัจจุบัน

                ด้านดีไซน์ภายนอกจะเห็นได้ชัดเลยว่ารถมีเส้นสายที่น้อยลง เรียบเนียนดูสะอาดสะอ้านมากขึ้น แต่ยังแฝงด้วยทรวดทรงที่ดูหรูหรา เล่นกับความนูนและยุบตามส่วนต่างๆของตัวรถ แสดงถึงเงาสะท้อนและไดนามิกของการเคลื่อนไหว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลลัพธ์ของปรัชญาการออกแบบ KODO Design เจนเนอเรชั่นใหม่ที่สง่างามและลงตัวมากขึ้น

                ที่น่าสังเกตคือรูปลักษณ์ภายนอกของ Mazda 3 ใหม่ทั้งตัวซีดานและแฮทช์แบ็กจะให้อารมณ์คนละแบบกันเลย โดยตัวซีดานจะมาในมาดหรูหรา มีสัดส่วนที่ลงตัวดูเป็นรถอนุรักษ์นิยมและแฝงด้วยความทันสมัย ส่วนตัวแฮทช์แบ็กจะมาในมาดสปอร์ตที่มีความดุดันกว่าชัดเจน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยภายนอกก็มีความแตกต่างกัน อาทิ กระจังหน้าในรุ่นซีดานเป็นโครเมียมแต่รุ่นแฮทช์แบ็คเป็นสีดำเงา กันชนหน้า-หลังไม่เหมือนกัน แก้มหน้าไม่เหมือนกัน ประตูหน้า/หลังมีความนูนไม่เหมือนกัน ดีไซน์ท้ายรถต่างกัน และให้ล้ออัลลอยมาคนละลายกันในรุ่นท็อป

ภายในท็อปคลาส

                มาดูที่ภายในกันต่อ เรื่องแรกที่จะพูดถึงคือขนาดของห้องโดยสารภายในที่ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นปัจจุบันมากนัก การเข้า-ออกรถยังง่ายเหมือนรถปกติทั่วไป แต่ในตัวแฮทช์หลังคาจะลาดลงด้านท้ายทำให้ต้องมุดก้มหัวลงเล็กน้อยขณะเข้า เบาะนั่งออกแบบใหม่ให้รองรับตามหลักสรีระศาสตร์มากขึ้น เมื่อลองเข้าไปนั่งหลังพวงมาลัยก็พบว่านั่งสบายขึ้น เบาะใหญ่รองรับแผ่นหลังได้เต็มๆ แถมยังซัพพอร์ตได้ดีและกระชับลำตัวไม่ให้กลิ้งไป-มาขณะเข้าโค้ง เบาะปรับคู่หน้าไฟฟ้าแต่ไม่แน่ใจว่ากี่ทิศทาง

                ทัศนวิสัยการมองด้านหน้าอยู่ในระดับดี เบาะนั่งอยู่ต่ำทำให้ได้อารมณ์สปอร์ตเล็กๆ มุมมองผ่านไหล่ไปกระจกหลังของรุ่นซีดานถือว่าดี ถ้ารุ่นแฮทช์แบ็กจะถูกบดบังมากกว่าเล็กน้อย

                ในตัวซีดานพื้นที่ด้านหลังไม่ต่างจากรุ่นปัจจุบันมากนัก เบาะหนานุ่มนั่งสบาย พนักพิงเอนกำลังดี สำหรับคนสูง 180 ซม. ยังมีที่ว่างเหนือศีรษะและที่ว่างช่วงขาเหลืออยู่ สามารถพับพนักพิงแยกได้แบบ 60/40 พับและจะราบไปกับพื้นห้องสัมภาระด้วย ขณะที่ตัวแฮทช์แบ็กทุกอย่างจะรู้สึกแคบลงเล็กน้อยเนื่องด้วยแนวหลังคาที่ลาดลง อุโมงค์เพลากลางเป็นอุปสรรคกับคนนั่งเบาะตัวกลางพอสมควรโดยเฉพาะเมื่อเดินทางไกลๆ

                เรื่องคุณภาพวัสดุและการออกแบบภายในเรากล้าพูดเลยว่าเหนือกว่าค่ายญี่ปุ่นทุกค่ายในปัจจุบัน มันชวนให้นึกถึงภายในของรถจากทวีปยุโรป รายละเอียด การประกอบ มีความประณีตเรียบร้อย แดชบอร์ดและแผงประตูใช้วัสดุซอฟท์ทัชที่ดูดีมีราคา ผสมผสานด้วยวัสดุโครเมี่ยมและวัสดุสีดำเงา ขณะที่การออกแบบก็ตัดเอาส่วนที่รกตาออกไป เหลือไว้เท่าที่จำเป็นและจัดวางไว้อย่างพิถีพิถันโดยคำนึงถึงความคลีนและสวยงามสะอาดตาเป็นหลัก

 

                หน้าจอกลางอยู่ในตำแหน่งระดับสายตามากขึ้น จอมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่องแอร์กลางถูกย้ายไปซ่อนแบบเนียนๆ แผงเครื่องปรับอากาศออกแบบใหม่สไตล์มินิมอล ในยามค่ำคืนจะมีแสงจากสวิตช์ต่างๆ และไฟ Ambient Light ซึ่งเป็นสีขาวเท่านั้น ระบบ Head-Up Display เปลี่ยนเป็นแบบฉายขึ้นกระจกหน้าโดยตรง ลักษณะจัดวางสวิตช์ต่างๆ ส่งผลให้บรรยากาศภายในห้องโดยสารดูแล้วหรูหราขึ้นมาก

                พวงมาลัยเป็นแบบสปอร์ต 3 ก้าน ก้านซ้ายเป็นชุดควบคุมเครื่องเสียงและปุ่ม INFO สำหรับปรับการแสดงผลบนหน้าปัด ก้านขวาเป็นชุดควบคุมระบบ Radar Cruise Control แผงหน้าปัดมาตรวัดออกแบบใหม่ดูสวยและทันสมัยยิ่งขึ้น เป็นแบบ 3 วง วงซ้ายวัดรอบแบบอนาล็อก วงขวาเป็นเกจน้ำมันและความร้อน ทีเด็ดคือตรงกลางเป็นจอดิจิตอล LCD แสดงข้อมูลการขับขี่เป็นกราฟิกที่คมชัดสวยงามและอ่านค่าได้ง่าย

                มาสด้าออกแบบคอนโซลกลางใหม่โดยคำนึงถึงการเข้าถึงและการหยิบจับต่างๆ ที่สะดวกมากขึ้น คันเกียร์ย้ายไปข้างหลังเล็กน้อย ย้ายที่วางแก้วไปไว้หน้าคันเกียร์เพื่อให้หยิบเครื่องดื่มได้ง่าย และย้ายสวิตช์คุมหน้าจอกลางไปข้างหน้านิดนึงเพื่อให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น พวกสวิตช์ปรับโหมดขับขี่ สวิตช์เบรกมือไฟฟ้าและปุ่ม AUTO HOLD ก็อยู่ข้างคันเกียร์ที่เดิม

                หน้าจอกลางขนาน 8.8 นิ้วใหม่ให้ภาพที่คมชัด สีสันสวยงาม มีฟีเจอร์แสดงภาพจากกล้องรอบคัน 360 องศา ด้านระบบ MZD Connect เป็นเวอร์ชั่นใหม่แล้วแต่เรายังไม่ได้ลองเล่นมากนัก ที่น่าประทับใจที่สุดคือระบบเสียง BOSE ลำโพง 12 ตัวที่มีลำโพงCenter Stage Speaker 1 ตัวที่ ด้านบนของแดชบอร์ดหน้า + ซับวูฟเฟอร์ 1 ตัวที่ใต้พื้นห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ต้องบอกเลยว่าระบบเสียงชุดนี้เสียงดีกว่ารถญี่ปุ่นทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่มีขายในไทย ณ ตอนนี้!

ขุมพลังใต้ฝากระโปรง

                มาสด้ายังไม่เปิดเผยรายละเอียดเครื่องยนต์ของ All-New Mazda 3 ที่จะทำตลาดเมืองไทย แต่คาดว่าน่าจะใช้เครื่องยนต์เดิมนำมาปรับปรุงใหม่ โดยเครื่องเดิมนั้นเป็นเบนซิน Skyactiv-G 4 สูบ 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ย้ำว่านี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ยังไม่ชัวร์ 100% ซึ่งก็ต้องรอวันเปิดตัวอีกทีสำหรับรายละเอียดเต็มๆ

                ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนช่วงล่างหลังนั้นเปลี่ยนจากแบบอิสระไปใช้ช่วงล่างหลังแบบคานบิดทอร์ชั่นบีม ระบบ GVC หรือ G Vectoring Control ใน Mazda 3 ตัวปัจจุบัน ถูกปรับปรุงใหม่เป็น GVC Plus ที่จะช่วยให้ได้ฟีลการขับที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น โครงสร้าง SkyActiv Body ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมให้ลดเสียงรบกวนลงได้มากขึ้นต้านทานการบิดงอของตัวถังมากขึ้น เวลาวิ่งผ่านลูกระนาดรถขยับตัวน้อยลง และมีเสียงรบกวนจากการขยับตัวถังที่ลดลง

                เรื่องการลดเสียงรบกวนเป็นสิ่งที่มาสด้าให้ความสำคัญมากๆ ใน Mazda 3 ใหม่ มีการเพิ่มวัสดุดูดซับเสียงในหลายๆ จุดรอบคัน รวมถึงเปลี่ยนเส้นใยของวัสดุซับเสียงเป็นแบบที่มีมวลหนาแน่นขึ้นกว่าเดิมเช่น ผ้าบุหลังคา และพรมที่พื้นรถ ทำให้รถมีการป้องกันเสียงที่ดีขึ้นจากรุ่นปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด

การขับขี่

                อย่างที่บอกไปว่าวันนี้เป็นการลองขับเบื้องต้นแบบ Sneak Preview ดังนั้นเราจึงต้องขับตามกฎของมาสด้าอย่างเคร่งครัดโดยแบ่งเป็นสถานีต่างๆ เพื่อดูสรรถนะของรถในแต่ละด้าน

                เริ่มต้นด้วยสถานีทดสอบอัตราเร่ง ทันทีที่กดคันเร่ง Mazda 3 ใหม่พุ่งออกตัวอย่างนิ่มนวลพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์ที่สุภาพเรียบร้อยและเครื่องยนต์มีความนุ่มนวลไม่สั่นสะท้าน เราไม่ได้จับเวลาอย่างเป็นทางการแต่ก็รู้สึกได้ว่ารถค่อยๆ พุ่งขึ้นด้วยอัตราความเร็วที่สม่ำเสมอ แรงดึงไม่ถึงกับทำให้หลังติดเบาะ รอบเครื่องดีดขึ้นสูงไปถึงราวๆ 4,000 รอบ ก่อนจะตัดลงเกียร์ 2 โดยไร้ซึ่งอาการกระตุก โดยรวมรถก็ให้ความรู้สึกแรงและเร็วตามมาตรฐาน C-Segment เครื่อง 2.0 ลิตร ไม่มีเทอร์โบ ถ้าเทียบกับ Mazda 3 รุ่นปัจจุบันจะรู้สึกว่าเร็วกว่าเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับ Civic 1.5 Turbo แล้วรายนั้นดึงได้เร้าใจกว่า

                จากสถานีทดสอบอัตราเร่งก็จะมีให้ทดสอบทั้งสถานีสลาลอม, ทดสอบแฮนด์ลิ่ง, ทดสอบเบรก, ทดสอบการดูดซับแรงสะเทือน สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือการตอบสนองของพวงมาลัยที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ Mazda 3 รุ่นปัจจุบัน ที่ความเร็วต่ำพวงมาลัยเบา คมและไวกว่า ระยะฟรีน้อยลง ที่ความเร็วสูงจะมีความหนืดขึ้นแต่ยังคมและไว ทำให้การหักเข้าโค้งกะระยะได้ง่าย

                ระบบ GVC Plus ทำให้การเข้าโค้งขณะความเร็วสูงมีความเนียนขึ้น รถไม่มีอาการฝืน อาการโยนลดลง เกาะโค้งยิ่งขึ้น การคอนโทรลทำได้ง่ายขึ้น เห็นผลชัดขึ้นการสถานีสลาลอมที่รถโยกน้อยลง พวงมาลัยไวขึ้น หักเพียงนิดเดียวก็อ้อมกรวยได้ง่ายๆ ประกอบกับช่วงล่างที่ปรับปรุงขนานใหญ่ให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจมาก แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นน้อยลง ลำตัวโยกน้อยลง การคืนตัวจากจังหวะยุบทำได้เร็ว

                ด้านการดูซับแรงสะเทือน Mazda 3 ใหม่ทำได้ดีขึ้นมาก บนสถานีมีการจำลองถนนที่เป็นหลุมบ่อแล้วให้ขับรูดผ่าน ซึ่งเราพบว่ารถสามารถดูดซับแรงกระแทกได้อยู่หมัด รถสะเทือนน้อยลง สั่นน้อยลง แม้ว่าจะมาบนยางแก้มเตี้ยขนาด 18 นิ้วก็ตาม

                อีกจุดที่ต้องปรบมือดังๆ ก็คือการป้องกันเสียง จากการขับทดสอบเรารู้สึกว่ามันทำได้ดีขึ้นจากรุ่นปัจจุบันมากๆ เสียงลมแทบไม่ได้ยินถ้าขับต่ำกว่า 100 กม./ชม. เสียงยาง เสียงช่วงล่าง เมื่อวิ่งผ่านผิวขรุขระก็แน่นกว่าเดิมชัดเจน

สรุปการขับขี่

                ต้องบอกว่า Mazda 3 ใหม่ดีขึ้นจาก Mazda 3 รุ่นปัจจุบันทุกด้านอย่างเป็นเอกฉันท์ ตัวปัจจุบันว่าโดดเด่นด้านการขับขี่และการควบคุมแล้ว แต่ก็ยังมีจุดอ่อนบางอย่างที่พบเจออยู่อย่างเช่นการป้องกันเสียงรบกวน ซึ่งรุ่นใหม่นี้สามารถแก้ไขจุดอ่อนนั้นได้แล้วและทำได้ดีขึ้นมากด้วย แถมยังเสริมคุณสมบัติด้านอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก แรงขึ้น นุ่มขึ้น ขับแล้วมั่นใจ ขับแล้วสนุก นี่จึงเป็นเหมือนบรรทัดฐานใหม่ของรถญี่ปุ่นที่เข้าไปหายใจรดต้นคอพวกรถระดับพรีเมี่ยมจากแบรนด์ยุโรปได้อย่างเต็มตัว แม้วันนี้จะเป็นการทดสอบเบื้องต้นที่อาจจะยังไม่ครบสมรรถนะในทุกด้าน แต่มันก็พอที่จะทำให้เราได้รู้จักนิสัยของ Mazda 3 ใหม่ได้สมควร และยืนยันเลยว่ารถคันนี้เกิดมาเพื่อคนที่ชอบขับขี่อย่างแท้จริง

                จุดเด่นอื่นๆ ที่เห็นกันอยู่แล้วก็คืองานดีไซน์ภายนอกและภายในระดับพรีเมี่ยมซึ่งมาสด้าคือผู้นำอยู่แล้ว จุดนี้ถ้าใครชอบงานศิลป์แบบ KODO Design น่าจะถูกอกถูกใจยิ่งขึ้น ทุกอย่างดูหรูหราขึ้น ทันสมัยขึ้น สปอร์ตขึ้น สิ่งเดียวที่ยังคงไว้พื้นที่ภายในที่ไม่ต่างจากรุ่นปัจจุบันเท่าไร เรียกว่าเป็นแนวทางของค่ายที่ไม่เน้นความกว้างขวางของพื้นที่ภายใน แต่เน้นความสปอร์ตเร้าใจในทุกอารมณ์สัมผัสมากกว่า

                ตอนนี้ก็เหลือแค่รายละเอียดสเปก ราคา และรุ่นย่อยที่จะทำตลาด ซึ่งภายในเดือนกันยายนนี้ก็น่าจะได้รู้กัน หากทำราคามาดี อัดออปชั่นมาเต็มถูกใจลูกค้า ไม่กั๊ก ไม่หวง เชื่อเลยว่า Mazda 3 ใหม่ จะขายดีกว่ารุ่นปัจจุบันแน่นอน

Gallery

Exit mobile version